รำลึก 120 ปีชาตกาลหลวงไพเราะเสียงซอ"อุ่น ดูรยชีวิน"

Logo Thai PBS
รำลึก 120 ปีชาตกาลหลวงไพเราะเสียงซอ"อุ่น ดูรยชีวิน"

เป็น 1 ใน 3 ครูดนตรีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินเอก ในสมัยรัชกาลที่ 6 และ โดดเด่นในทางซอทุกชนิด ทั้งยังเป็น 1 ในผู้ฟื้นฟูดนตรีไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผลงานตลอดช่วงชีวิตของหลวงไพเราะเสียงซอ อุ่น ดูรยชีวิน ทำให้ในวันนี้เมื่อครบ 120 ปีชาตกาล ยังเป็นวันที่ลูกศิษย์ต่างแสดงความรำลึกถึงยอดคนซอแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

                                    

<"">

เสียงสูงหวานแหลมที่เกิดจากการใช้เทคนิคสีซอ 3 สายในเพลงลมพัดชายเขา สื่อถึงความรู้สึกอาลัยได้อย่างลึกซึ้ง คือ เอกลักษณ์ทางการบรรเลงอันโดดเด่นเฉพาะตัวของ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ครูซอแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ใช้ประสบการณ์ครั้งเล่นในวงแอ่วเคล้าซอที่ อยุธยา ผสานความรู้ดนตรีไทยแบบแผนจากพระยาประสานดุริยศัพท์ สร้างสรรค์ทางดนตรี เป็นที่ยอมรับของนักดนตรีรุ่นหลัง ซึ่ง ไพศาล อินธวงศ์ จดจำได้ดีแม้ผ่านเวลามากว่า 40 ปี เพราะเป็นเพลงที่ หลวงไพเราะเสียงซอ หรือ คุณพ่อหลวงฯ ตามที่นักศึกษาชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ เรียกติดปาก เป็นผู้ถ่ายทอดให้เขาด้วยตนเอง
                                   
<"">

ไพศาล อินธวงศ์ ลูกศิษย์ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ผมได้พบกับท่านเมื่อสมัยที่ท่านอายุ 74 ปีแล้ว ในช่วงที่ท่านได้เข้ามาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเป็นคนใจดี แล้วได้มีโอกาสไปต่อเพลงกับท่านที่บ้านของท่านตรอกโรงม้าต้น สนามม้านางเลิ้ง ซึ่งท่านการใช้นิ้วและใช้คันชักสะอึกมีเทคนิคในการสีซอหลากหลาย"
                                   
ขณะที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ลูกศิษย์ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ อีกท่านหนึ่ง เผยว่า"การที่ได้พบกับท่านทำให้เราได้ประจักษ์ว่าเราได้พบกับเทพทางดนตรี เสียงซอของท่านเป็นทิพย์เลยนะ เสียงของท่านสะกดคนได้ ซอ 2 สายก็ได้ 3 สายก็ได้ 4 สายก็ได้ เพราะท่านเล่นไวโอลิน ซอของท่านนี่แตกฉานทั้งหมด"

เพราะมีคุณพ่อหลวงเป็นผู้เปิดโลกดนตรีไทย ทำให้นักศึกษาหนุ่มซึ่งเคยสนใจแต่ดนตรีฝรั่งในยุคนั้นอย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กลายเป็น 1ในผู้หลงไหลในดนตรีไทยจนถึงทุกวันนี้ และฝึกหัดเป่าขลุ่ยเพียงออที่ได้รับการถ่ายทอดมาครั้งเป็นนักศึกษามิได้ขาด ทั้งยังจดจำได้ดีถึงความงดงามของเสียงซอครูผู้เฒ่า ที่ไพเราะจนเรียกน้ำตา ผู้ฟังออกมาได้
                                    

<"">

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวเสริม ว่า ขณะนั้นร่วมทำนิตยสารกับคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคุณสุลักษณ์ให้ช่วยหาครูดนตรีไทยให้ ผมจึงเสนอชื่อครูไพเราะเสียงซอ และได้ชวนท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ไปด้วย เมื่อเข้าไปถึง ครูหลวงไพเราะหยิบซอด้วงมาสี ท่านอังคารก็เขม้นมองไม่เคยได้ยิน พอเป็นซออู้ท่านอังคารเริ่มน้ำตาซึม พอเป็นซอ 3 สายท่านอังคารร้องไห้เลย"

ท่วงทำนองดนตรี ไล่เรียงไปดังอาการของระลอกคลื่น จากบทเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 1 ใน 3 บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจากการถวายคำแนะนำของหลวงไพเราะเสียงซอครั้งเสด็จประพาสทางทะเล ซึ่งเสียงซอ 3 สายของครู อุ่น ดูรยชีวิน มีส่วนสำคัญทำให้พระองค์หันมาสนใจดนตรีไทย และรับสั่งว่า"เครื่องดนตรีไทยนี่ ก็แปลก มีแค่ 3 สาย แต่ทำได้ทุกเสียง"

แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองบทบาทของดนตรีไทยจะลดลง หากแต่หลวงไพเราะเสียงซอ ยังเป็น 1 ในผู้ถ่ายทอดและฟื้นฟูดนตรีไทย สร้างลูกศิษย์ทั้งในสถาบันการศึกษาอย่างธรรมศาสตร์และกรมศิลปากรไว้มากมาย การแสดงดนตรี 12 ทศวาร สานเสียงไทย หลวงไพเราะเสียงซอ คือหนึ่งในงานที่คณะศิษย์จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงความโดดเด่นในผลงาน และปณิธานในการอนุรักษ์ดนตรีไทยของครู อุ่น ดุรยชีวิน ที่เหลือไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง