"ประวิทย์" ย้ำเหตุบริษัทต้องลดราคาค่าบริการอย่างน้อย 20%

Logo Thai PBS
"ประวิทย์" ย้ำเหตุบริษัทต้องลดราคาค่าบริการอย่างน้อย 20%

 นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชี้ชัดผู้ให้บริการซึ่งได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3จี ควรลดค่าบริการให้ถูกลงกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนประกอบการลดลงจากสาเหตุอย่างน้อย 5 ประการ

สำหรับเหตุผลประการแรกคือ การให้บริการ 3จี ครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาตแล้ว ทำให้บริษัทไม่ต้องส่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับหน่วยงานของรัฐ เช่น กสท. และทีโอที อีกต่อไป เพียงแต่จ่ายแค่ค่าธรรมเนียมรายปีประมาณร้อยละ 2-3 เท่านั้น จากเดิมที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในระบบสัมปทานร้อยละ 20-30 อีกประการคือค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือค่าไอซี ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ให้บริษัทกำหนดราคากันเอง และมีการกำหนดไว้ที่ 1 บาท แต่มีการคิดค่าโทรภายในเครือข่ายเพียง 25 สตางค์ ดังนั้นสำหรับการให้บริการ 3จี ค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจึงควรลดลงเหลือเพียง 50 สตางค์ ซึ่งหมายถึงจะทำให้ต้นทุนลดลงอีกร้อยละ 50

“ค่าไอซีลดลง 50% ส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐก็ไม่ต้องจ่ายอีก 20% เมื่อต้นทุนลดลงเห็นๆ ค่าบริการก็ต้องลดลงด้วย ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าต้นทุนลดแล้วค่าบริการไม่ลด บริษัทก็ได้กำไรเต็มๆ ดังนั้นค่าบริการจึงควรลดลงทันทีไม่น้อยกว่า 20%“ นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์กล่าวว่า ยังมีแนวทางเพิ่มเติมที่จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนลงได้อีกและทำให้บริการได้ดีหรือดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งขณะนี้ กสทช.กำหนดให้มีการจัดทำประกาศเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ คือ 1. การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องกันโครงข่ายไว้ร้อยละ 10 เพื่อเป็นผู้ขายส่งบริการให้รายย่อย โดยพื้นที่โครงข่ายร้อยละ 10 นี้ผู้ชนะการประมูลไม่ต้องทำการตลาดเอง แต่สนับสนุนให้เกิดรายย่อยและให้รายย่อยเป็นผู้ทำการตลาดให้ 2. การสนับสนุนให้มีการใช้บริการข้ามเครือข่ายภายในประเทศ หรือโรมมิ่ง ( Roaming) ภายในประเทศ เช่น ในพื้นที่ห่างไกล หากเครือข่ายที่ใช้บริการไม่มีสัญญาณ แต่มีสัญญาณของเครือข่ายอื่นก็สามารถโรมมิ่งกันได้ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้งานได้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“กรณีเจ้าที่ 1 ไม่มีสัญญาณ แต่เจ้าที่ 2 มีสัญญาณ เราก็สามารถโรมมิ่งและจ่ายค่าบริการผ่านเจ้าแรกได้ เป็นการลดต้นทุนการให้บริการ ไม่ต้องรอให้ต้องขยายบริการให้เต็มพื้นที่กันทุกเครือข่าย ซึ่งมาตรการนี้ระบบ 2จี เมืองไทยยังไม่เคยมี มีกรณีที่โรมมิ่งระหว่างคลื่น 900 ของเอไอเอส กับคลื่น 1800 ของดีพีซี แต่ก็เป็นการโรมมิ่งเจ้าเดียวกัน ในขณะที่ระบบ 3จี ที่วางแผนไว้นั้น ทั้ง 3 เจ้าโรมมิ่งกันได้หมด เช่น พื้นที่นี้ยังไม่ได้ตั้งเสาก็ไปขอโรมมิ่งกับเจ้าที่มีโครงข่ายแล้ว ก็จะทำให้เข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกัน” กสทช.ประวิทย์กล่าว

ส่วนแนวทางที่ 3 ซึ่งจะทำให้เป็นการลดต้นทุนของบริษัทคือ การใช้โครงข่ายร่วมกัน หรือ Infrastructure Sharing จากการที่ปัจจุบันในพื้นที่เดียวกันจะพบเสาสัญญาณของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างลงทุน แต่ในระบบ 3จี ทุกบริษัทสามารถใช้เสาส่งสัญญาณร่วมกันได้ มาตรการนี้ได้ประโยชน์ทั้งลดต้นทุนของผู้ประกอบการและลดปัญหาความไม่พอใจของประชาชนกับเสาสัญญาณ

“การตั้งเสาเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หลายกรณีมีการก่อสร้างโครงเหล็กปล่อยคลื่นอยู่ข้างบ้าน ประชาชนก็เกิดข้อสงสัย อีกอย่างเสาพวกนี้มีสายล่อฟ้าอยู่ ชาวบ้านก็จะบอกว่า ฟ้ามันผ่าบ่อยขึ้น เดือดร้อน หากมีการแชร์เสาสัญญาณ ปัญหาก็จะน้อยลง รวมถึงยังลดต้นทุนได้ ขณะนี้ทั้ง 3 บริษัทต้องเช่าพื้นที่เอกชนเพื่อตั้งเสา หากเป็นการแชร์ใช้ร่วมกันจาก 3 เสาเหลือเสาเดียว จาก 5-6 ล้านบาทก็เหลือ 1-2 ล้านบาท และตัวส่งสัญญาณก็ใช้ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างไฟเบอร์ออฟติก ของเอไอเอสก็เดินทั่วทุกภาค ดีแทคก็เดินทั่วทุกภาค ของทรูมูฟก็เดินทั่วทุกภาค เช่นกรณีดีแทควันดีคืนดีไฟเบอร์ออฟติกขาด หรือมีเส้นสำรองก็ขาดอีก แต่ถ้ามีการแชร์ใช้ ก็ไม่ต้องลงทุนไฟเบอร์ออฟติกใหม่ เป็นหลักการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งในต่างประเทศจะใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงเหล็กและสายส่งร่วมกัน” นายประวิทย์กล่าว

นาย.ประวิทย์สรุปว่า กติกาเหล่านี้เป็นการชี้ทิศว่า นโยบาย กสทช. ต้องการให้ต้นทุนประกอบการลดลง ซึ่งถ้าไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เมื่อต้นทุนลดแล้ว ค่าบริการก็ต้องลดลงด้วย ทั้งนี้ ทั้งมาตรการสนับสนุนรายย่อย การทำให้เกิดโรมมิ่ง และการแชร์โครงข่าย ได้มีการยกร่างประกาศและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว น่าจะออกเป็นประกาศที่มีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้สรุปตัวร่างสุดท้ายมาเสนอบอร์ด ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งติดตามต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง