"อภิสิทธิ์-สุเทพ" พร้อมสู้คดี ระบุแถลง "ดีเอสไอ" สอดคล้อง "เฉลิม" เชื่อตั้งธงเอาผิดล่วงหน้า

การเมือง
7 ธ.ค. 55
06:20
50
Logo Thai PBS
"อภิสิทธิ์-สุเทพ" พร้อมสู้คดี ระบุแถลง "ดีเอสไอ" สอดคล้อง "เฉลิม" เชื่อตั้งธงเอาผิดล่วงหน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ผอ.ศอฉ. แถลงแสดงความพร้อมที่จะต่อสู้คดี ตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มีการตั้งธงเพื่อสร้างเงื่อนไขการต่อรองทางการเมือง หลังรับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา"ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา"ระหว่างกำกับดูแลสถานการณ์วิกฤตการเมือง ปี 2553 จากดีเอสไอ

หลัง ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้าพบและแจ้งเรื่องศาลอาญามีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับรถแท็กซี่บริหาร ในกลุ่ม นปช. เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน หรือในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลง ที่จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 13 ธันวาคม เวลา 13.30 น. โดยยืนยันว่าจะไม่หลบหนีและยินดีปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ

แต่นายอภิสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหา พฤติการณ์ และถ้อยคำแถลงของอธิบดีดีเอสไอ สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จึงเชื่อว่า คดีมีการตั้งธงในการดำเนินการล่วงหน้าไว้แล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการในช่วงเหตุวิกฤตการเมือง ปี 2553 มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ โดยไม่เคยมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมและยังกำชับให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ที่จะทำนำไปสู่ความรุนแรงถึงแก่ชีวิต

ขณะที่นายสุเทพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยให้ปากคำกับดีเอสไอ ทั้งปากเปล่าและลายลักษณ์อักษร ยืนยันเป็นผู้ลงนามคำสั่ง ศอฉ. ทุกฉบับ แต่เพียงผู้เดียว แต่การที่ดีเอสไอต้องแจ้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ด้วย เพราะต้องการใช้เป็นประเด็นข้อต่อรอง เพื่อให้เห็นชอบกับร่างกฎหมายปรองดองหรือร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งที่ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ยอมถูกดำเนินคดีและติดคุก ดีกว่าจะเห็นชอบกับกฎหมาย เพื่อล้างผิดให้กับคนทุจริตชาติบ้านเมือง

ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอ แถลงแจ้งข้อหากับ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา และได้ประสานแจ้งที่จะส่งหนังสือเชิญที่พรรคประชาธิปัตย์ และชี้แจงว่า การทำคดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายคือ ตำรวจนครบาล พนักงานอัยการ และดีเอสไอ โดยมีพยานหลักฐาน 2 ส่วน คือ การไต่สวนของศาลในคดี นายพัน คำกอง และจากการต่อยอดตามแนวทางที่ศาลสั่ง ว่า การตายเกิดจากกระสุนปืนความเร็วสูงของทหาร ซึ่งมาจากการสั่งการของ ศอฉ. โดยการปฏิบัติการ มีนายสุเทพ เป็นผู้ลงนาม และเป็นไปตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง