เผยผลประเมินการจัดการศึกษาไทยได้คะแนนเฉลี่ย"วิทย์-คณิต"รั้งท้าย

11 ธ.ค. 55
13:44
108
Logo Thai PBS
เผยผลประเมินการจัดการศึกษาไทยได้คะแนนเฉลี่ย"วิทย์-คณิต"รั้งท้าย

ผลการวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ปี 2554 ที่ทำการศึกษาจากการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ มัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทุกสังกัดทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าหากมองในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทย สามารถจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นรองเพียงประเทศสิงค์โปร์เท่านั้น แต่คะแนนเฉลี่ยโดยรวมกลับอยู่เกณฑ์ต่ำ จึงมีข้อเสนอให้เน้นจัดการศึกษาแบบองค์รวมทั้งโรงเรียน นักเรียน ครู พร้อมใช้สื่อแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในเต็มตามศักยภาพเพื่อแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระยะยาว

<"">
<"">

หลังประเทศไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่ดำเนินการโดยสมาคมนานาชาติเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือ IEA ประเมินการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยในปี 2554 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.ได้

สรุปผลการประเมินจากกลุ่มโรงเรียนตัวอย่างทุกสังกัดจำนวน 340 แห่ง นักเรียนกว่า 10,000 คน โดยเทียบกับค่าเฉลี่ยกลางระดับนานาชาติ 500 คะแนน พบว่า วิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป.4 จาก 52 ประเทศ อันดับ 1 ได้แก่ สิงคโปร์
606 คะแนน ไทยอยู่อันดับที่ 34 ได้ 458 คะแนน วิชาวิทยาศาตร์ อันดับ 1 คือ เกาหลีใต้ 587 คะแนน ส่วนไทยอยู่ที่ 29 ได้ 472 คะแนน

<"">
<"">

ขณะที่วิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ม.2 จาก 45 ประเทศ อันดับ 1 ได้แก่ เกาหลีใต้ 613 คะแนน ไทยอยู่ที่ 28 ได้ 427 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์ อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 590 คะแนน ไทยได้อันดับที่ 25 ได้ 451 คะแนน หากมองแค่ภูมิภาคอาเซียนจะพบว่า ไทยเป็นรองประเทศสิงคโปร์ ในการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

แต่หากเทียบจากคะแนนประเมินในภาพรวมจะพบว่า ไทยอยู่ในลำดับต่ำสุดทุกการประเมิน มีเพียงการประเมิน วิชาวิทยาศาสตร์ ป.4 เท่านั้นที่ได้ลำดับพอใช้\ ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจ โดยนักเรียนชั้น ป.4 และ ม.2 ของโรงเรียนสาธิต และโรงเรียนสังกัด กทม. มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติทั้ง 2 วิชา ขณะที่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้คะแนนต่ำ

<"">
<"">

เมื่อจำแนกตามรายภาคจะพบว่า นักเรียนจากภาคอีสานตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ ได้คะแนนต่ำ สำหรับประเด็นครูผู้สอน พบว่า ครูไทยส่วนใหญ่จบ ป.ตรี ถึงร้อยละ 86 สูงกว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมประเมิน แต่ครูกลับมีพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่ตรงกับวิชาที่สอน และไม่มีความมั่นใจในการสอน

นายปรีชาญ เดชศรี รองผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสถานศึกษา นักเรียน และครู ต้องได้รับการพัฒนา เพราะที่ผ่านมายังทำได้ไม่เต็มตามศักยภาพของสื่อ และแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่

รองผู้อำนวยการ สสวท. ยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางการพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนการสอนแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง สำหรับข้อเสนอแนะจาก สสวท. คือ ควรนำแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนสาธิตไปปรับใช้กับโรงเรียนอื่น ๆ ฝึกอบรมสร้างแรงจูงใจการสอนแก่ครู การจัดเวลาการเรียนการสอนให้เหมาะสม โรงเรียนต้องยึดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมถึงเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมพื้นฐานต่อการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง