ประธาน สนช.ชี้ยกร่างรธน.ฯบูรณาการ 3 ฉบับรองรับประชามติ

การเมือง
11 พ.ค. 58
15:05
78
Logo Thai PBS
ประธาน สนช.ชี้ยกร่างรธน.ฯบูรณาการ 3 ฉบับรองรับประชามติ

ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุถึงหลักการสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติปี 2552 พร้อมกำหนดกระบวนการรองรับ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงในการชี้แจงกระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมูญฉบับใหม่กับทีมข่าวไทยพีบีเอส และยังคงยืนยันว่าต้องเป็นไปตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 แต่ไม่ปฏิเสธ หากจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็ดำเนินการได้ แต่นั่นหมายถึงกระบวนการทำประชามติในลักษณะที่ขอคำปรึกษา ไม่ผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด 
 
ต่างกับการเดินหน้าตามมาตรา 44 ที่ ครม. และ คสช.ต้องมีมติร่วมกัน พร้อมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยหลักการและเหตุผลของร่างนั้น คือการเปิดทางให้ทำประชามติ เพื่อชี้ขาดการดำเนินการ และด้วยเหตุนี้ เนื้อหาสาระของร่างแก้ไขต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติปี 2552 โดยมี กกต.เป็นฝ่ายการจัดการ และกำหนดวันออกเสียงประชามติ กำหนดกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกินกว่า 120 วัน ที่สำคัญ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ต้องมีกระบวนการรองรับด้วย หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ จะต้องมีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในลักษณะบูรณาการอย่างเร็วที่สุด 
 
ประธาน สนช.เปิดเผยว่า ระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ผู้ยกร่างก็คำนึงถึงข้อเสนอการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากแต่ที่ไม่บัญญัติไว้แต่เดิมทีเดียว เพราะหวั่นเกรงข้อครหาว่า คสช.จะมีเจตนายึดติดกับอำนาจเกินควร จึงเลือกที่จะให้น้ำหนักของการยกร่างรัฐธรรมนูญไปที่คณะกรรมาธิการยกร่าง และให้อำนาจการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเป็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้แผนการดำเนินงานเพื่อความสำเร็จ หรือโรดแมปของ คสช.สั้นที่สุด แต่ยืดหยุ่นกระบวนการนี้ไว้ด้วยการบัญญัติมาตรา 46 ขึ้น เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเพิ่มความที่จะว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามกระแสเรียกร้องของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง