“ไทยเบิ้ง” เปิดลานบ้านดึงศิลปวัฒนธรรมชุมชนเผยแพร่

28 ก.พ. 56
04:55
796
Logo Thai PBS
 “ไทยเบิ้ง” เปิดลานบ้านดึงศิลปวัฒนธรรมชุมชนเผยแพร่

เน้นผู้ใหญ่สอน เด็กเรียนรู้ คนดูเรียนรู้เพื่อสานต่อ

 ใครว่าวันนี้!!

สังคม “ทอดทิ้ง” “ไม่ให้ความสำคัญ” กับเรื่อง “ภูมิปัญญา” “วัฒนธรรม” “ประเพณี” หรือ “รากเหง้า” ของตนเอง
 
ใครว่าวันนี้!!
สังคม ให้ความสำคัญกับ “ค่านิยมตะวันตก” และ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” จนถึงขั้น “ฮิต” และต้อง “เสพติด” ไปซะทั่วบ้านทั่วเมืองเพียงแค่อย่างเดียว!! ที่สำคัญถึงขั้นขาดไปจากชีวิตไม่ได้... คุณคิดผิด!!
 
...เพราะวันนี้ที่ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี หรือแหล่งชุมชนไทยเบิ้งหมู่บ้านใหญ่ ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยสร้างสมวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบัน ที่นี่ยังคงมีศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเพณี ภูมิปัญญาดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ทั้งยังมีการสืบสาน สืบทอด ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานให้ไม่หลงลืมอีกด้วย ทั้งยังมีการบูรณาการกันกับศิลปวัฒนธรรมกับต่างพื้นที่ด้วยอย่างไทยพวน, ไทยวน และไทยมอญ...
 
นายประทีป อ่อนสลุง ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการศึกษาบนฐานชุมชนตำบลโคกสลุง  ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า ชาวไทยเบิ้ง มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายกลุ่มชนไทยภาคกลาง แต่ยังมีภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน การละเล่น การทอผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนอยู่ กลุ่มชนชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อย่างเข้าฤดูแล้งผู้ชายอาจจะเข้าป่า หาของป่า ล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้ในครอบครัว และปลูกฝ้ายในบริเวณบ้าน 
 
ร่องรอยที่บ่งบอกได้ว่าผู้คนแถบนี้เคลื่อนย้ายมาจากทางโคราช ประการแรกคือสำเนียงการพูดเหน่อแบบโคราชที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมักลงท้ายคำพูดว่า "เบิ้ง" "เหว่ย"  “ด๊อก” หรือ "เด้อ" โดยเฉพาะคำว่า "เบิ้ง" จะเป็นคำที่ติดปากเสมอ ทำให้คนเมืองกลุ่มอื่นเรียกชุมชนนี้ว่า "ไทยเบิ้ง" วิถีชีวิต ความอยู่ของชาวไทยเบิ้ง ที่มีจุดเด่นในการรักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ภาษาพูด ย่ามไทยเบิ้งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น นามสกุลของคนในหมู่บ้าน ที่มีคำว่า "สลุง" อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีศิลปะพื้นบ้าน เช่น การรำโทน การเล่นเพลงพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน
 
ล่าสุดในงานตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชน ครั้งที่ 3 ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ชาวไทยเบิ้งได้นำการละเล่นพื้นบ้าน แบบต่างๆ มาเผยแพร่ สืบสาน สืบทอด และแลกเปลี่ยนให้กับคนในชุมชน โดยมีผู้ใหญ่สอน เด็กเรียนรู้ คนดูเรียนรู้ สืบทอดและบอกต่อเพื่อไม่ให้สิ่งดีดีที่บ่งบอกถึงตัวตนของสังคมสูญหายและยังคงอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นวิ่งว่าวติดธนู, เสือกินงัว(วัว), ตีลูกล้อ(ระวง), รถล้อไม้, จิ้งหน่อง, ปืนไม้ไผ่, จิ้งโป๊ะ, ว่าวอีลุ้ม, ว่าวปักเป้า, ว่าวจุฬา, ว่าวสองห้อง รวมไปถึงการสานปลาตะเพียน, การสานตุ๊กโต่ง และการสอนสานจิ้งหันใบลาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาเล่นได้ยากแล้ว ถ้าหากไม่รักษาไว้อนาคตลูกหลานไทยอาจจะไม่รู้จักและหมดโอกาสที่จะได้เล่นและสัมผัสแน่ๆ
 
นายประทีป อ่อนสลุง บอกว่า สังคมเราทุกวันนี้ “ค่านิยมตะวันตก” และ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” กำลังวิ่งเข้ามาเร็วยิ่งกว่าจรวด ทำให้ความเป็นตัวตน รากเหง้า และวัฒนธรรม ประเพณีเริ่มจางหายไป คนในสังคมเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี แต่หันไปให้ความสำคัญกับค่านิยมตะวันตก ฉะนั้นถ้าจะให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและสิ่งดีดียังคงอยู่ แต่การทำเพียงแค่ฝ่ายเดียวคงใช้เวลานานหรืออาจจะประสบความสำเร็จน้อยแต่การมีเครือข่ายเพื่อมากระตุ้นคนในชุมชนให้เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ใช่แค่พื้นที่เราทำแค่พื้นที่เดียว แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่เห็นความงดงามของการแสดงทางวัฒนธรรมว่าเป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นว่ามีความงดงาม 
 
ทั้งนี้ ในงานมีการบูรณาการกันกับ 3 เครือข่ายชาติพันธุ์ ด้วยการนำศิลปวัฒนธรรมมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น รำทะแยมอญ ของชาวไทยรามัญบ้านบางขันหมาก อ. เมือง จ. ลพบุรี ซึ่งเป็นการฟ้อนที่เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อ การเซ่นไหว้, รำดาบและฟ้อนแพน ของชาวไทยวนบ้านสวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี และฟ้อนงอยกะลอ ของชาวไทยพวน บ้านโคกกะเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นการแสดงที่ใช้ประกอบการฟ้อนรำ ที่สืบทอดมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ทั้งหมดนี้เป็นการดึงพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาเพื่อสร้างพลังให้คนในชุมชนและพี่น้องชาติพันธ์ด้วยกันตื่นตัวกับการรักษา พัฒนา ฟื้นฟู และหวงแหนสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอาไว้อย่างภาคภูมิใจ จากนั้นจะนำไปสู่การสานสัมพันธ์ ต่อยอด เผยแพร่ต่อ จนในที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะคงอยู่และสร้างความภาคภูมิใจให้สังคมต่อไปตราบนานเท่านาน
 
นี่เป็นเสน่ห์ชุมชนที่เกิดขึ้นพร้อมกับความอบอุ่นที่มี “ภูมิปัญญา” “วัฒนธรรม” “ประเพณี” “รากเหง้าชุมชน” เป็นสื่อกลาง ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็พบเจอแต่รอยยิ้ม สายตาที่อบอุ่น และแววตาที่สดใสของทั้งเด็กที่เป็นผู้รับรู้ ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ผลักดันและหนุนให้เกิดกิจกรรมขึ้นมา และคนชราที่เป็นผู้รู้หรือปราชญ์ที่ยินดีถ่ายทอดความรู้ของบรรพบุรุษให้กับทุกคนที่สนใจ ...เมื่อสิ่งเหล่านี้มีผู้สานต่อเชื่อว่าในอนาคต “ความเข้มแข็ง” จะเกิดขึ้น แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน “หากคนไทยยังรักษ์ หวงแหนความเป็นตัวตน” ของตัวเองเอาไว้ “ไทยก็คงยังเป็นไทย” ไม่เลือนหายไปพร้อมกับความทันสมัยของสังคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง