ปัญหาการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา

กีฬา
2 มี.ค. 56
13:45
2,839
Logo Thai PBS
 ปัญหาการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา

นักกีฬาที่ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้น ส่วนหนึ่งมาจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ส่วนหนึ่งเจตนาใช้เพราะมีปัจจัยเรื่องเงิน และความคาดหวังในชัยชนะ แม้รู้ว่าอาจมีอันตรายถึงชีวิต

อันตรายจากการใช้สารกระตุ้นอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เกิดอาการหัวใจล้มเหลว ในกลุ่มที่ใช้สารประเภทสเตียรอยด์ หรือแม้แต่พวกที่ใช้วิธีถ่ายเลือดของตัวเอง ที่เก็บเอาไว้และฉีดกลับเข้าไปในร่างกายช่วงการแข่งขันซึ่งเรียกว่า บลัด โด๊ปปิ้ง และยาบางประเภททำให้เกิดโรคมะเร็ง

จากการวิจัยพบว่าการใช้สารกระตุ้น สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ได้เพียงร้อยละ 3 -ร้อยละ 4 เท่านั้น

สำหรับนักกีฬาไทยส่วนใหญ่ ที่มีการตรวจพบมักจะเป็นนักกีฬาระดับเยาวชน ซึ่งสาเหตุหลักคือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สาเหตุสำคัญคือประเทศไทย เป็นประเทศที่หาซื้อยาได้ง่าย จึงเป็นปัญหาทำให้หลายคนหมดอนาคต เพราะถูกลงโทษห้ามแข่งถึง 2 ปี

กีฬาที่พบมากที่สุด คือ กีฬาประเภทบุคคลในกีฬายกน้ำหนัก มวย และ กรีฑา ส่วนกีฬาประเภททีมมีปัจจัยด้านอื่น เช่น เทคนิคและ แทคติกที่จะชนะคู่แข่งได้โดยไม่ต้องอาศัยการโด๊ป และจากการสุ่มตรวจของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ซึ่งแต่ละปีมีประมาณ 30,000 ตัวอย่าง พบผลเป็นบวกเพียงร้อยละ 0.03 เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก

ในการตรวจสารกระตุ้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประมาณ 15,000 - 17,000 บาท ในอดีตยาบางตัวต้องตรวจโดยการเจาะเลือด แต่ขณะนี้สามารถตรวจได้ทางปัสสาวะ

แต่การตรวจโด๊ปด้วยวิธี บลัด โดปปิ้ง ยังคงต้องเจาะเลือด เพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือดแดง นอกจากนั้นมีวิธีการใหม่ๆที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการลักลอบวิจัย ซึ่งเป็นการใช้วิธีเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกรรมพันธุ์ของมนุษย์ หรือที่เรียกว่ายีน โด๊ปปิ้ง วิธีการนี้สามารถเปลี่ยนโครงสร้างร่างกายนักกีฬาได้อย่างรวดเร็ว แต่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจโดยการเจาะเลือดได้เช่นกัน

ยาบางชนิดถือเป็นสารกระตุ้นเช่นยารักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ แม้จะไม่เจตนาแต่เมื่อตรวจเจอแล้วถือว่าผิดทันที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง