ผลโพลคลาดเคลื่อน เรื่องปกติตามหลักสถิติ

การเมือง
4 มี.ค. 56
03:29
1,591
Logo Thai PBS
ผลโพลคลาดเคลื่อน เรื่องปกติตามหลักสถิติ

ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของสำนักสำรวจหรือ สำนักโพลส่วนใหญ่ กรณีของ Entry Poll หรือ โพลก่อนการเลือกตั้ง และ Exit Poll หรือโพลที่ทำขึ้นขณะที่มีการเลือกตั้ง ต่างก็นำเสนอผลการเลือกตั้งว่า พล.ต.ต.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 9 จะได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด แต่เมื่อมีการนับคะแนน กลับพบว่า ผู้สมัครฯ หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กลับได้รับคะแนนมากกว่า ซึ่งสำนักโพล ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่ผลสำรวจจะคลาดเคลื่อนได้ตามหลักสถิติ

Entry Poll หรือ โพลก่อนการเลือกตั้ง ของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "โพลล์ก่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556 โดยสำรวจตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45.9 ระบุจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 34.1 ระบุจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต สำรวจก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2556 ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำที่ร้อยละ 49.01 ตามมาด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ร้อยละ 39.65

ส่วนนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยผลสำรวจ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.-1 มี.ค. พบว่า ร้อยละ 43.16 ระบุว่า จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ,รองลงมา ร้อยละ 41.45 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

สำหรับ ผล EXIT POLL ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งมีการสำรวจระหว่างช่วงที่มีการเลือกตั้ง ปรากฎว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ร้อยละ 40.02 ต่อ ร้อยละ 38.54

ขณะที่ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพล เปิดเผยผล Exit Poll พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ร้อยละ 44.14 ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ร้อยละ 41.07

เมื่อเทียบกับผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ จะพบว่า ผลโพลส่วนใหญ่ไม่ตรงกับคะแนนที่นับได้ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนกันหลายสำนัก ซึ่งกรณีนี้ นายสิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการบ้านสมเด็จโพล กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ผลการทำ EXIT POLL คลาดเคลื่อนสูง มาจากช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ถึงเวลาใกล้ปิดหีบ เพราะในครั้งนี้เก็บข้อมูลตั้งแต่เวลา 08.00 - 13.30 FREE น. และในช่วงเวลา 13.30 - 15.30 ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวกลับเป็นช่วงเวลาที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลมความคลาดเคลื่อนสูง

ด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพล ระบุว่า การผกผันคลาดเคลื่อนของโพลเป็นเรื่องปกติ อย่างในสหรัฐฯ โพลก็คลาดเคลื่อนเหมือนกัน สาเหตุที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากตัวอย่างสำรวจทำน้อยเกินไป

ส่วนนายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล กล่าวว่า คลาดเคลื่อนเกิดจาก ช่วงเวลาที่ทำ EXIT POLL สั้นมากคือทำได้เฉพาะช่วงเช้า ส่วนอีกสาเหตุมาจากการทำ EXIT POLL เป็นการสัมภาษณ์แบบต่อหน้า ทำให้ผู้ถูกถามไม่ไว้วางใจ กังวล เพราะไม่แน่ใจว่ามาจากสำนักโพลจริงหรือไม่ และในบางชุมชน ก็มีหัวคะแนนและผู้มีอิทธิพลคุมอยู่ ทำให้ไม่ได้บอกไปตามความจริง แต่เชื่อว่าทุกโพลทำไปตามหลักวิชการ ไม่มีเบื้องหลัง

ด้านรองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลที่คลาดเคลื่อนครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญของทุกสำนักโพล การรวบรวมกลุ่มตัวอย่าง หรือที่ฟันธงว่าคน กทม.หลอกโพลต่างๆ ทั้งหมดเป็นข้อแก้ตัว แต่ความจริงสำนักโพลต่างๆต้องมาพูดคุย และดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร อย่าไปมองว่าเป็นแค่โกงหรือทุจริต อย่าโทษคนอื่น คนทำโพลต้องโทษตัวเองเพื่อดูว่าครั้งต่อไปจะทำอย่างไร

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง