"มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล" ชี้ "แรงงานหญิง" ดื่มเหล้าแก้ปัญหา ร้องรัฐฯ ยกระดับคุณภาพชีวิต

สังคม
5 มี.ค. 56
06:28
154
Logo Thai PBS
"มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล" ชี้ "แรงงานหญิง" ดื่มเหล้าแก้ปัญหา ร้องรัฐฯ ยกระดับคุณภาพชีวิต

เครือข่ายภาคประชาสังคม เปิดเผยผลการสำรวจคุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแรงงาน พบว่า แรงงานหญิงมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำสัปดาห์ละ 1-3 วัน ส่งผลต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ตามมาด้วยภาระหนี้สินและการเลี้ยงดูครอบครัว จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิงทั้งการมีสวัสดิการที่ดีและการบังคับใช้กฎหมาย

กิจกรรมเดินรณรงค์หยุดสุรา หยุดอบายมุข เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีจากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงสวนสันติภาพ พร้อมทั้งกล่าวปฏิญาณตนละ ละ เลิก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น น.ส.มณี ขุนภักดี หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแรงงาน โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานหญิงทั้งหมด 526 คนใน 10 โรงงาน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาครและสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ถึง 3 มีนาคม 2556 พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง 2ใน 3 หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ส่วนใหญ่ดื่มเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-3 วัน

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของแรงงานหญิงที่ดื่มคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ตามมาด้วยหนี้สิน และการเลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมักหาทางออกของปัญหาด้วยวิธีการดื่มสุราเป็นอันดับแรก รองมาเป็นการระบายทุกข์กับเพื่อน ตามด้วยดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวผับบาร์ ซึ่งกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำร้อยละ 76 ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยคลายเครียด แต่กลุ่มที่ดื่มในโอกาสพิเศษ ร้อยละ 68 ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยไม่ได้ และเมื่อถามรายจ่ายในแต่ละเดือนพบว่า กลุ่มที่ดื่มเป็นประจำจะมีรายจ่ายร้อยละ 14 ของรายได้ และกลุ่มที่ดื่มบางโอกาสจะมีค่าใช้จ่าย ร้อยละ 11 ของรายได้ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ยอมเสียค่าใช้จ่ายกับการเล่นหวยร้อยละ 10 ของเงินเดือน

จากผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่ากลุ่มแรงงานหญิง เมื่อมีความเครียดจะหาทางออกด้วยการดื่มสุราเป็นอันดับแรก จึงทำให้ปัญหาที่ตามมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ จึงเสนอให้กระทรวงแรงงาน คำนึงคุณภาพแรงงานหญิงในมากขึ้น เช่น การมีสถานที่เลี้ยงบุตรของผู้ใช้แรงงาน และตรวจสอบโรงงานให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบแรงงานหญิง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานควรจะต้องมีส่วนร่วม เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการห้ามดื่มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานให้กับคนงานและสถานประกอบการ และติดตามการบังคับใช้อย่างจริงจัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง