ไว้ลายความแหวกแนวด้วยการจับคู่เสื้อโค้ทและถุงเท้ายาว ที่สีสันของลายขวางดูไม่น่าจะเข้ากันได้ หรือเสื้อแจ็คเก็ตสีแมลงทับกับกางเกงฮาเร็มสีแวววาวตัวโคร่ง แฟชั่นโชว์ชุด ล่าสุดของ Vivienne Westwood ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ ที่ใช้จำนวนเสื้อผ้าและนางแบบน้อยกว่าโชว์ชุดอื่น ๆ ที่ผ่านมา แสดงถึงจุดยืนของเจ้าแม่แฟชั่นพั๊งค์จอมขบถของวงการที่เน้นคุณภาพมากกว่า ปริมาณ และยึดหลัก Buy Less, Choose Well, Make it Last หรือ ซื้อให้น้อยลง เลือกให้ดี ใช้ให้คุ้ม เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
มากไปกว่าสวยงามตามแฟชั่น หลายคนยังแสดงจุดยืนเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ทารุณกรรมสัตว์ เช่น Natalie Portman ไม่ใส่เสื้อผ้าทำจากหนัง และมักเลือกชุดเดรสและชุดราตรีของ Stella McCartney แบรนด์ฝั่งอังกฤษที่โด่งดังเรื่องใส่ใจในสิ่งแวดล้อม หรือ Emma Watson ที่ออกแบบไลน์เสื้อผ้ารักษ์โลกร่วมกับดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนด้วยการใช้เส้น ใยฝ้ายจากธรรมชาติ ขณะที่คนดังของไทยหลายคนก็มีวิธีการเลือกใช้เสื้อผ้าให้คุ้มค่าและหลากหลาย แตกต่างกันไป
การหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ ให้ทันกระแสอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับคนกระเป๋าหนัก แต่สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณก็อาจจะต้องคิดมากกันสักหน่อยว่าจะ ซื้อเสื้อผ้าอย่างไรให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปให้มากที่สุด จึงทำให้ทุกวันนี้บรรดาแฟชั่นนิสต้าจึงพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดในการแต่งตัวให้ประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุด
หากคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ตั้งแต่เริ่มปลูกฝ้าย กระบวนการผลิต จนถึงทำความสะอาด อายุการใช้งานกางเกงยีนส์ใช้น้ำมากถึง 6,000 ลิตรต่อหนึ่งตัว เท่ากับปริมาณน้ำในแก้วกาแฟ 43 แก้ว แต่ด้วยกระบวนการผลิตแบบใหม่จะช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 28%
ขณะที่คอลเลคชั่นฤดูใบไม้ผลิปี 2013 ที่ 20% ของวัสดุที่ใช้ผลิตกางเกงยีนส์มาจากขวดพลาสติก เช่น ขวดเบียร์สีน้ำตาล ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำเปล่า รวมถึงถาดวางอาหาร ซึ่งกางเกงยีนส์หนึ่งตัวใช้ขวดพลาสติกถึง 8 ขวด สะท้อนความพยายามของยีนส์แบรนด์ดังที่หันมาลดทอนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่เอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อม ยืนยันจากยอดขายที่มากถึง 4.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2011 ซึ่งมากกว่ากางเกงยีนส์คอลเลคชั่นปกติ
แม้วงการแฟชั่นในไทย จะยังไม่ตื่นตัวในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่ ดีไซเนอร์บางคนก็พยายามคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
ตามที่ ชนิดา ปรีชาวิทยากุล ดีไซเนอร์ กล่าวว่า "ประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทุกขั้นตอน กระบวนการผลิตต้องไม่สร้างสารพิษ ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ และประชาชนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ"
ด้วยเหตุนี้ โทนสีพื้นฐาน เช่น ขาว ดำ เทา น้ำตาล ที่นำไปจับคู่กับเสื้อผ้าอื่นๆได้ง่าย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถหยิบจับสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใส่ในหลายโอกาส แม้เสื้อผ้าฝีมือดีไซเนอร์อาจมีราคาสูงอยู่บ้าง หากการทดแทนด้วยคุณภาพของวัสดุ การตัดเย็บให้คงทน สามารถใส่ได้หลายครั้ง ก็พอช่วยผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไปได้อยู่บ้าง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: