กก.กสทช.เตรียมยื่นที่ประชุมทบทวนมติให้ 3 ช่องออกอากาศทีวีดิจิตอล พรุ่งนี้
ประเด็นต้นเหตุที่ทำให้คณะกรรมการ กสทช. ถูกคัดค้านจากสังคมขณะนี้ คือ การอนุมัติให้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5, ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส ออกอากาศในโครงข่ายดิจิตอล กลุ่มทีวีช่อง"สาธารณะ" ซึ่งเป็น 3 ใน 12 ช่อง ที่กสทช.ไฟเขียวให้ประกอบกิจการบนโครงข่ายดิจิตอล
ทั้งนี้มี ฝ่ายคัดค้านทั้งคณะกรรมการกสทช. 2 ใน 5 คน ที่มีอำนาจพิจารณาโดยตรง และกลุ่มนักวิชาการ จากสถานบันการศึกษาต่างๆ ที่เห็นว่า ไม่เป็นธรรม เพราะหลักเกณฑ์ต่างๆ ยังทำไม่เสร็จ แต่กลับให้อนุมัติให้ดำเนินการ นอกจากนี้การอนุมัติให้ช่อง 5 และ ช่อง 11 มีสิทธิ์ออกอากาศในช่องสาธารณะ จึงถูกตั้งคำถามว่า "เนื้อหา" ที่ออกอากาศมีความเหมาะสม เป็นช่องสาธารณะ แท้จริงหรือไม่
ก่อนหน้านี้ประธานคณะกรรมากิจการกระจายเสียงฯ กสทช. ชี้แจงว่า ที่อนมุัติให้ทั้ง 3 ช่อง เพราะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม แต่ถ้ายุติออกอากาศระบบอนาล็อกแล้ว หากจะทำต่อในช่องสาธารณะ ทั้ง 3 ช่อง ก็ต้องปรับผังใหม่ ให้เข้าหลักเกณฑ์ของกสทช.
เวทีเสวนา "ประเคนทีวีดิจิตอล ช่องสาธารณะ..กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อจริงหรือไม่" เป็นอีกกลุ่ม ที่เป็นการรวมตัวของหลายหน่วยงาน ทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อ, สถานบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ,มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา หรือ มีเดีย มอร์นิเตอร์ กรรมการ กสทช. และหลายภาคส่วนเข้าร่วม ร่วมกันประกาศจุดยืน เรียกร้อง กสทช. ทบทวนหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ พร้อมขอให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะและทำหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน จึงให้ใบอนุญาต ซึ่งหากกสทช.ไม่ทบทวน ก็เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์การปฏิรูปสื่อ และอาจถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยื่นฟ้องศาลปกครอง และจะยื่นถอดถอน กรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน ต่อวุฒิสภาด้วย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์เป็นทางการ เรียกร้อง กสทช.ทบทวนมติ และชะลอการให้ใบอนุญาต และปรับหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตแบบ"บิวตี้ คอนเทส" หรือ การพิจารณาตามศักยภาพของผู้ประกอบการ และขอให้เปิดเวทีประชาพิจารณ์ ซึ่งหากไม่ทบทวน จะกำหนดท่าทีในช่องทางตามกฎหมาย
ขณะวันพรุ่งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กสทช. จะหารือว่า จำเป็นต้องทบทวน ตามที่หลายฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ โดยมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช.เป็นผู้ให้พิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบวงกว้าง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: