จับตาทิศทางการผลักดัน "นักฟุตบอลหญิง" หลังไม่ประสบสำเร็จเท่าที่ควร

กีฬา
25 เม.ย. 56
14:31
105
Logo Thai PBS
จับตาทิศทางการผลักดัน "นักฟุตบอลหญิง" หลังไม่ประสบสำเร็จเท่าที่ควร

ฟุตบอลลีกหญิงปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่แทบไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตลอดทั้งฤดูกาลมีคนดูเข้าไปในสนามเพียงไม่กี่ร้อยคน ที่สำคัญผลผลิตนักเตะเพื่อป้อนเข้าสู่ทีมชาติที่เป็นเป้าหมายหลักของการจัดลีกแทบจะไม่มีนักเตะหน้าใหม่ติดทีมชาติ สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการแข่งขันอย่างชัดเจน

ฟุุตบอลลีกหญิงมีมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่จัดแข่ง 4 ครั้ง เพราะในช่วงปี 2011-2012 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ต้องหยุดจัดแข่ง เพราะติดปัญหาเรื่องผู้สนับสนุน ซึ่งนักเตะหญิงไร้ทิศทางไม่มีงานทำ ต้องไปประกอบอาชีพอื่น และบางคนเมื่อกลับไปเล่นทีมชาติกลับสร้างความหนักใจให้กับโค้ชและคนทำทีมฟุตบอลหญิง เนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อมต้องมารื้อฟื้นกันใหม่

หลังจากนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงรับหน้าที่เข้าไปจัดการแข่งขันแบบหลักสูตรเร่งรัดเมื่อช่วงต้นปี ใช้เวลาในการแข่งขัน 3 เดือน โดยแบ่งตามมาตรฐาน ทีมที่มีมาตรฐานดี 8 ทีมเท่านั้นที่จะได้เล่นในเมืองไทยวูเมน ไทยพรีเมียร์ลีก ซึ่งใช้ระบบแข่งแบบเหย้าเยือนและจะได้แข่งประมาณ 14 นัด แต่ทีมที่เหลือในระดับดิวิชั่น 1 อีก 8 ทีมจะแข่งแบบพบกันหมดได้เล่นทีมละ 7 นัดเท่านั้น นอกจากระบบการแข่งขันที่เร่งรัด ระยะสั้นไม่เป็นอาชีพ กระแสการตอบรับ ทำให้ไม่ได้รับความนิยม แทบจะไม่มีคนรู้จักฟุตบอลลีกหญิงของไทย

   

แม้ทีมบีจี บัณฑิตเอเชีย จะได้แชมป์ไปแล้ว พร้อมเงินรางวัล 600,000 บาท แต่ยอดคนดูตลอด 3 เดือนของ เมืองไทย วีเมน ไทยพรีเมียร์ลีก ในแต่ละเกมมีเพียง 100-300 คนเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่า ฟุตบอลหญิงไม่ได้รับความนิยม ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกันเกือบทั่วโลก มีลีกฟุตบอลหญิงเพียงไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านคนดูและผู้สนับสนุน เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

หากกล่าวถึงลีกฟุตบอลหญิงที่สามารถผลิตนักเตะฝีเท้าดีให้กับทีมชาติแทบจะไม่มีนักเตะหน้าใหม่ และนักเตะทีมชาติส่วนใหญ่ลงเล่นให้กับทีมชาติมานานหลายปีแล้ว เช่น สุภาพร แก้วแบน, นิสา ร่มเย็น ที่ยังถูกเรียกกลับมาเล่นอีกครั้งในฟุตบอล เอเชี่ยนคัพรอบคัดเลือก และชิงแชมป์อาเซี่ยน จึงเป็นปัญหาหลักของวงการฟุตบอลหญิงไทยในขณะนี้

ทั้งนี้ สภาพของทีมฟุตบอลหญิงที่ขาดแคลนนักเตะหน้าใหม่ เป็นปัญหาหลักที่สมาคมฟุตบอลเตรียมที่จะแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะต้องวางรากฐานฟุตบอลหญิง ตามที่ฟีฟ่าได้วางรูปแบบเอาไว้

   

โดยนักฟุตบอลหญิงไทยในทีมชาติที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาติดทีมชาติมีเพียง 40 คน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาด้านบุคลากรนักฟุตบอลหญิงของไทยที่มีไม่เพียงพอให้คัดเลือก จึงต้องจัดทำระบบ กราสรู้ท หรือ รากฐานฟุตบอลหญิงของเมืองไทยในแนวทางเดียวกับฟุตบอลชายที่ฟีฟ่าได้วางไว้

โดยจัดให้เป็นกิจกรรมฟุตบอลหญิง เฟสติวัล และเตรียมเจรจาขอความร่วมมือกับ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนในสังกัด เหมือนกับที่ทำให้ฟุตซอลมาแล้วทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รูปแบบที่ฟีฟ่าได้วางเอาไว้ให้เป็นการสร้างรากฐานของวงการฟุตบอลในการสร้างนักเตะเยาวชนที่สมาคมฟุตบอลจะนำมาใช้กับฟุตบอลหญิง เริ่มต้นจากการส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมโค้ชรุ่นใหม่อายุ 20 ปีขึ้นไป รวมถึงกรรมการอายุ 18-25 ปี ที่จะมาทำหน้าที่ในทัวร์นาเม้นฟุตบอล เฟสติวัล ขั้นตอนสุดท้ายจะนำเด็กอายุ 10-12 ปี ไปฝึกและแข่งในเวลา 2 วัน กิจกรรมเช่นนี้วงการฟุตบอลระดับยุวชนทั่วโลกทำอย่างต่อเนื่องจึงสามารถผลิตนักเตะให้กับทีมชาติไล่ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงชุดใหญ่

   

โครงการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ในขณะที่ยังประสบปัญหานักฟุตบอลหญิงหายาก นายปิยะกุล แก้วน้ำค้าง ผู้ฝึกสอน ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนโดยพยายามดึงนักเตะเยาวชน 19 ปีขึ้นไปเสริมทีมชาติชุดใหญ่ ซึ่งจะต้องแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนคัพหญิงรอบคัดเลือกทั้ง 2 รอบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รวมถึงการลงเล่นชิงแชมป์อาเซี่ยน เพื่อรอโครงการ กราสรู้ท ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง