วิกฤตโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ฉีดพ่นยาป้องกันไข้เลือดออก ภายในโกดังเก็บยางรถยนต์ ตามมาตรการกำจัดยุงลายด้วยวิธีการ 5 ป 1 ข. ของกรุงเทพมหานคร เพื่อลดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะระยะนี้ ที่มีฝนตกต่อเนื่อง อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย และรวดเร็ว
โดยยางรถยนต์ที่เก็บได้ทั้งหมด จะนำไปพักไว้ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ก่อนส่งต่อให้โรงงานปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปเผาทำลายเป็นเชื้อเพลิงต่อไป ขณะที่พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ติดอันดับ 2 ของกทม. ที่พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง เมื่อปลายปี 2555
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของกทม. อยู่อันดับที่ 23 ของประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงวันที่ 8 มิ.ย.2556 พบผู้ป่วยทั้งหมด 4,190 คน เสียชีวิต 1 คน แต่สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง เพราะสถิติผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเหมือนทุกปีที่ผ่านมา
ขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศพบว่าเพิ่มขึ้นจากปี2555 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.1 เท่า และคาดการณ์ว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากปี 2555 ล่าสุด พบผู้ป่วยแล้วกว่า 43,609 คน และมีผู้เสียชีวิต 50 คน โดยกลุ่มอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่พบการเสียชีวิตมากที่สุด เพราะเข้าใจผิด คิดว่าโรคนี้เกิดเฉพาะในเด็ก จึงซื้อยารับประทานเอง รวมทั้งรักษาที่คลินิก และมาหาหมอช้า จึงโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง
ข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ระบุว่า ปัญหาหลักของการระบาดหนักปีนี้ เกิดจากจำนวนยุงลายที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากฝน ส่งผลให้ปริมาณยุงลายตัวแก่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงฤดูร้อนหลายเท่าตัว นอกจากนี้ วงจรชีวิตของยุงลาย มีระยะเวลาสั้นลง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นตัวยุง ประมาณ 11 วันเหลือเพียง 7-8 วันเท่านั้นและออกไข่ครั้งละ 100-200 ฟอง ช่วงเวลาที่ยุงลายออกหากินเลือด มากที่สุด คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่ 9.00 - 11.00 น.และกลางวัน เวลา 14.00- 15.00 น. และหากกินเลือดไม่อิ่ม ยุงลายจะกินเลือดเวลากลางคืนด้วย
ดังนั้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายด้วยการเปลี่ยนภาชนะใส่น้ำทุก 1 สัปดาห์ ปิดฝาภาชนะ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะน้ำขัง สามารถตัดวงจรชีวิตของยุงลายให้ลดปริมาณลงได้เป็นจำนวนมาก
แท็กที่เกี่ยวข้อง: