จับตา"นายกฯ" ประชุม"สภากลาโหม" ครั้งแรก 26 ก.ค.

การเมือง
22 ก.ค. 56
14:10
65
Logo Thai PBS
จับตา"นายกฯ" ประชุม"สภากลาโหม" ครั้งแรก 26 ก.ค.

บทบาทน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนต่างประเทศ โดยจะเป็นประธานประชุมสภากลาโหมครั้งแรก 26 กรกฎาคมนี้ และจะตรวจเยี่ยมให้นโยบายทุกเหล่าทัพต้นเดือนสิงหาคม ท่ามกลางการจับตามองถึงประเด็นการนำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภากลาโหมหรือไม่ และการโยกย้ายนายทหารที่ทุกเหล่าทัพจะเริ่มทยอยจัดส่งบัญชีปรับย้ายภายใน 15 สิงหาคม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะนั่งเป็นประธานประชุมสภากลาโหมครั้งแรก วันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ท่ามกลางการจับตามองทุกการเคลื่อนไหว แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าจะนำแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าหารือด้วยหรือไม่

ขณะที่พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 มีเปิดช่องทางของการขับเคลื่อนเพื่อตรากฎหมายนิรโทษกรรมไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีความเห็นของพล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เคยตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เมื่อครั้งที่นำคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าชี้แจงรายละเอียดการจัดตั้งงบประมาณกระทรวงกลาโหม

โดยสาระสำคัญของความเห็นนั้น ระบุว่า หากเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอสภากลาโหมโดยตรงสามารถทำได้ตามข้อ 6 ในมาตรา 43 ของพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 ซึ่งโฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวยอมรับในบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ย้ำว่าไม่ว่าช่องทางใดของการนำเสนอจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย

และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีกำหนดการเดินสายตรวจเยี่ยมและให้นโยบายเหล่าทัพในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ สอดคล้องกับกรอบเวลา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล ซึ่งเหล่าทัพต่างๆ จะเริ่มเสนอบัญชีรายชื่อการปรับย้ายภายใน 15 สิงหาคมนี้

โดยปีนี้คณะกรรมการปรับย้ายนายทหารตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 มีจำนวนครบทั้ง 7 คน เนื่องจากโครงสร้างปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากการพิจารณาตำแหน่งใดไม่ลงตัวและถึงขั้นต้องใช้วิธีโหวต ก็อาจมีตัวแปรจากฝ่ายการเมืองถึง 2 เสียงด้วยกัน คือน.ส.ยิ่งลักษณ์ รัฐมนตรีว่าการและพล.อ.ยุทธศักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

ปีนี้ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารเรือจะเกษียณอายุราชการ ขณะที่ปีหน้า มีทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่จะเกษียณอายุพร้อมกัน ที่นับเป็นจังหวะเปลี่ยนผ่านของกองทัพ ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกับสถานการณ์การเมือง ที่ส่อเค้าไม่แน่นอน

ทั้ง 2 เหตุผลที่ว่านี้ จึงกลายเป็นประเด็นให้ต้องจับตามองการเดินหน้างานการบริหารบ้านเมืองและงานของกองทัพ รวมถึงการผลักดันงานการเมือง ภายใต้บทบาทของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง