โครงการร่วมทุน"ปลูกปาล์ม"ไทย-มาเลเซีย เกษตรกรเสียเปรียบ

22 ก.ค. 56
15:28
315
Logo Thai PBS
โครงการร่วมทุน"ปลูกปาล์ม"ไทย-มาเลเซีย เกษตรกรเสียเปรียบ

ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรตัวอย่างในจ.พัทลุง ตั้งข้อสังเกตโครงการร่วมทุนไทย-มาเลเซีย เพื่อพัฒนาศักยภาพปาล์มน้ำมัน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ว่าเกษตรกรในพื้นที่อาจจะเสียเปรียบเรื่องพันธสัญญา เนื่องจากเจ้าของที่ดินซึ่งเข้าร่วมโครงการยาวนานถึง 90 ปี จะได้รับผลตอบแทนเพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น

การลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการร่วมทุนไทย-มาเลเซีย เพื่อพัฒนาศักยภาพปาล์มน้ำมันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระหว่างสภาเกษตรกรจ.พัทลุง กับบริษัทบิวทามอนกรุ๊ปประเทศมาเลเซีย โดยมีนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และดาโต๊ะเสรี ซูฮาเม็ดนาซรี บินตาน ซะรีอับดุลอาซิซ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กำลังถูกตั้งข้อสังเกตุจากปราชญ์ชาวบ้านในจ.พัทลุง ถึงความเหมาะสมของโครงการนี้ เนื่องจากเกรงว่าเกษตรกรในพื้นที่จะเสียเปรียบเรื่องพันธสัญญา

โครงการพัฒนาศักยภาพปาล์มน้ำมันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา บริษัทบิวทามอนท์กรุ๊ป จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอาทิ ระบบชลประทาน รวมทั้งให้การสนับสนุนเพาะเมล็ดพันธ์ปาล์ม และบริหารจัดการสวนปาล์มรวมถึงควบคุมการจัดจ้างคนงานและผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนเกษตรกรเจ้าของที่ดินซึ่งจะเข้าร่วมโครงการต้องยินยอมทำสัญญากับบริษัทครั้งละ 30 ปี รวม 3 ครั้ง เป็นเวลา 90 ปี ส่วนรายละเอียดผลประโยชน์ในช่วง 1-5 ปีแรก จะไม่มีการแบ่งผลประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินเพราะเป็นช่วงเริ่มปลูกและดูแลรักษา ส่วนในปีที่ 6-30 จะแบ่งประโยชน์ร่วมกัน โดยเจ้าของที่ดินจะได้รับในสัดส่วนร้อยละ 30 ขณะที่ทางบริษัทผู้ลงทุนได้รับร้อยละ 70 สภาเกษตรกรจ.พัทลุง ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ระบุว่าในเบื้องต้นไม่สามารถยอมรับข้อเสนอดังกล่าวได้จึงเสนอให้ทางบริษัทไปปรับเปลี่ยนเงื่อนไข

ไม้ยืนต้นและพืชผักนับร้อยชนิดในไร่นาสวนผสมเนื้อที่ 13 ไร่ในอ.ควนขนุน จ.พัทลุงของคุณลุงสุขุม ทองขุนดำ เกษตรกรตัวอย่างจ.พัทลุง ให้ผลผลิตที่หลากหลายสร้างความมั่นคง ทั้งในเรื่องรายได้และความมั่นคงเรื่องอาหาร เกษตรกรตัวอย่างจ.พัทลุง จึงแนะนำให้เจ้าของที่ดินศึกษารายละเอียดโครงการพัฒนาศักยภาพปาล์มน้ำมันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อย่างรอบคอบก่อนเข้าร่วมโครงการ เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างปาล์มน้ำมันมีความเสี่ยงในหลายด้าน

โครงการพัฒนาศักยภาพปาล์มน้ำมันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาต้องการพื้นที่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันอย่างน้อย 50,000 ไร่ นอกเหนือจากเงื่อนไขการร่วมทุนที่เกษตรกรไทยอาจตกเป็นรองแล้ว หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังกังวลถึงความเหมาะสมของสภาพทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มและป่าพรุ การเข้ามาของสวนปาล์มน้ำมันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และพืชพันธุ์ดั้งเดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง