เปิดเทคนิค "จุลินทรี" ช่วยลูกข้าว จ.เชียงราย "ลดสารพิษ-ต้นทุน"

24 ก.ค. 56
07:43
147
Logo Thai PBS
เปิดเทคนิค "จุลินทรี" ช่วยลูกข้าว จ.เชียงราย "ลดสารพิษ-ต้นทุน"

จ.เชียงรายเตรียมตั้งศูนย์รวบรวมตรวจวัดคุณภาพพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการผลิตข้าวให้มีคุณภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปริโภค ยกระดับให้เป็นสากลมากขึ้น ขณะที่ชาวนาหลายพื้นที่นำจุลินทรีย์มาช่วยในการเพาะปลูกข้าว นอกจากช่วยลดการใช้สารเคมีตกค้างแล้ว ยังลดต้นทุนในการผลิตได้มากถึงร้อยละ 50 ด้วย

การทำนาโดยใช้รถไถตีตอซังและฟางข้าวให้ราบไปกับพื้นจากนั้นใช้จุลลินทรีย์ซึ่งเป็นน้ำหมักชีวภาพที่ทำเองจากผลไม้ในท้องถิ่น เช่น ลำใยหรือกระท้อน ฉีดพ่นให้ทั่วรักษาระดับน้ำหมักไว้ 7 วัน ให้ตอซังและฟางข้าวย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย เป็นวิธีที่กัมพล พิกุล ชาวนาต.ดอยลาน อ.เมือง จ.เชียงราย ใช้มาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้เขาได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นของจ.เชียงรายและอันดับ 3 ของภาคเหนือ เพราะนอกจากลดต้นทุนการผลิตเรื่องปุ๋ยเคมีแล้วยังทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

 
จากความสำเร็จในการใช้จุลินทรีย์ช่วยในการทำนาของกัมพล ทำให้จังหวัดส่งเสริมให้ชาวนานำไปต่อยอดพบว่าได้รับความสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,000 คน สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงกว่าร้อยละ 50 สอดคล้องจังหวัดเชียงรายที่ต้องการเน้นการปลูกข้าวปลอดภัย ลดใช้สารเคมีและเพิ่มผลผลิตให้ชาวนา โดยจะมีการเดินสายให้ความรู้และหาสายพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่ชาวนาปลูก

    

 
แผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงรายในปี 2557 เตรียมจัดตั้งให้มีศูนย์จำหน่ายและรับรองสินค้าเกษตรปลอดภัยขึ้นซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดหาสถานที่อยู่ ข้าวที่จะผลิตขึ้นในพื้นที่ก็จะต้องมีความปลอดภัย ที่สามารถผ่านขบวนการคัดกรองของคลินิกตรวจสารปนเปื้อนออกใบรับรองความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปริโภค
 
พื้นที่ปลูกข้าวของจ.เชียงรายมีประมาณ 1.5 ล้านไร่ แต่มีชาวนาขึ้นทะเบียนไว้เพียง 1.2 ล้านไร่ มีผลผลิตปีละประมาณ 700,000 ตัน ที่ผ่านมาชาวนาต้องสิ้นเปลืองค่าปุ๋ยเคมีปีละกว่า 1,500 ล้านบาท ดังนั้นการใช้จุลินทรีย์มาช่วยลดต้นทุนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ชาวนาควรนำมาใช้ในยามที่เกิดภาวะวิกฤติราคาข้าวตกต่ำในขณะนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง