"จิสด้า"แนะเร่งกำจัดมวลน้ำมันบริเวณหัวเกาะเสม็ด ป้องกันฟิล์มน้ำมันกระจายตัวไปจุดอื่น

สังคม
31 ก.ค. 56
05:04
66
Logo Thai PBS
"จิสด้า"แนะเร่งกำจัดมวลน้ำมันบริเวณหัวเกาะเสม็ด ป้องกันฟิล์มน้ำมันกระจายตัวไปจุดอื่น

ผู้อำนวยการสำนังาน พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดคราบน้ำมันบริเวณหัวเกาะเสม็ด ป้องกันคราบฟิล์มน้ำมันกระจายตัว เผยมีโอกาสแพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่น เชื่อฟิล์มน้ำมันอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาสัตว์ทะเลในระยะยาว ด้านชาวประมงชายฝั่ง ชี้คราบน้ำมันเริ่มเข้าสู่ พื้นที่ ต.บ้านเพ จ.ระยอง แล้ว หวั่นส่งผลกระทบสัตว์น้ำ

วันนี้ (31 ก.ค.)นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงาน พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า กล่าวว่า จากภาพถ่ายดาวเทียม ล่าสุดเมื่อเช้านี้ (31 ก.ค.) เวลาประมาณ 06.09 น. แสดงสถานการณ์คราบน้ำมันที่ลอยอยู่ในทะเล โดยเป็นภาพของ"ฟิล์มน้ำมัน"ที่กระจายอยู่ในทะเล ซึ่งแตกต่างจาก"มวลน้ำมัน"ที่อยู่บริเวรณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จะ.ระยอง ทั้งนี้คราบน้ำมันที่ลอยจากบริเวณหัวเกาะเสม็ดและลอยมายังเกาะขาม และเกาะกุฎี ยังพบว่ามีขนาดที่ใกล้เคียงกับเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) 

โดยคราบฟิล์มน้ำมันมีขนาดกว้างประมาณ 15 ตร.กม. แต่จุดที่น่าสังเกตจากการติดตามสถานการณ์ตลอด 3-4 วัน โดยจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดของคราบน้ำมันมิใช่จุดที่บริเวณอ่าวพร้าว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นบริเวณหัวเกาะเสม็ดตั้งแต่บริเวณอ่าวถ้ำ อ่าวน้อยหน้า และท่าเรือเกาะเสม็ด โดยสันนิษฐานว่าจะมีมวลน้ำมันสะสมที่บริเวณอ่าวคนละจุดกับบริเวณอ่าวพร้าว แต่ว่าที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญไปที่บริเวณอ่าวพร้าวมากกว่า

โดยภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงภาพของฟิล์มน้ำมันช่วยให้สามารถมองเห็นว่ามีมวลน้ำมันที่เป็นจุดกำเนิดจของฟิล์มน้ำมันอยุ่บริเวณอื่น ๆ ของเกาะอีก ซึ่งหากสามารถจัดการบริเวณอ่าวพร้าวได้แล้วก็ควรที่จะต้องไปจัดการมวลน้ำมันบริเวณจุดอื่น ๆ ทันทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่กระจายของฟิล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 

 
ทั้งนี้ หากมองด้วยตาเปล่าด้วยความบางของฟิล์มน้ำมันอาจเห็นสภาพของทะเลใกล้เคียงกับน้ำทะเลปกติ หากแต่เมื่อใช้ภาพถ่ายดาวเดียวจะสะท้อนให้เห็นชัดว่า มีคราบฟิล์มน้ำมันเคลื่อบบริเวณผิวของน้ำทะเลอยู่ซึ่งจะไม่มีสีดำของน้ำมันเช่นเดียวกับที่เห็นจากบริเวณหาดพร้าว ทั้งนี่คาดว่าจะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 5 -10 ไมครอน หากเทียบกับพื้นที่ประมาณ 1 ตร.กม.จะมีปริมาณน้ำมันอยู่ที่ 50- 100 ลิตร
 
ทั้งนี้ ผลกระทบของฟิล์มน้ำมันในระยะสั้นอาจไม่มากนักซึ่งอาจไม่พบเห็นปลาตายเป็นจำนวนมาก แต่ระยะยาวสิ่งมีชีวิตอาจจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในห่วงโซ่อาหาร ปะการัง ปลา หอย หนอนทะเลหลายชนิดที่มีความอ่อนไหวต่อพิษของน้ำมันมากกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ  รวมถึงฟิล์มน้ำมันบางตัวที่ย่อยสลายได้ด้วยแบคทีเรียด้วยแสงอาทิตย์แต่บางส่วนก็ไม่ย่อยสลายได้ใช้เวลากว่า 3-4 เดือนที่จะสะสมตามหาดต่างๆที่ได้มีการพบเห็นลักษณะคล้ายกับยางมะตอย
 
ดังนั้น แม้ว่าฟิล์มน้ำมันจะไม่ส่งอันตรายอย่างฉับพลันแต่ก็ควรระวังในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การสูบน้ำที่มีฟิล์มน้ำมัน การเล่นน้ำอาจมีผลทางผิวหนัง หรือเข้าปาก หากเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง 
 
อ.อานนท์ ยังประเมินว่า ปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันหากเปรัยบมวลน้ำมันที่รั่วไหลในช่วงวันแรก คาดว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับข้อมูลของเอกชน ที่อยู่ประมาณ 50,000 ลิตร ซึ่งไม่น่าจะถึงหลัก 100,000 ลิตร และหากถึงหลัก 100,000 ลิตรขอบเขตของการกระจายจะกว้างกว่าที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาของฟิล์มน้ำมันต้องแก้ที่ต้นเหตุ เนื่องจากมีการกระจายตัวของฟิล์มน้ำมันมากกว่ามวลน้ำมัน ซึ่งมีโอกาสที่จะกระจายข้ามไปยังจังหวัดอื่นได้ โดยต้องแก้ที่ต้นเหตุบริเวณหัวเกาะเสม็ด จ.ระยอง ทั้งนี้ ทางจิสด้าได้ประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้สำรวจไปยังบริเวณจุดอื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณหาดพร้าว ซึ่งหากสามารถจัดการจะช่วยป้องกันมิให้มีฟิล์มน้ำมันกระจายลอยออกมา

ขณะที่  สถานการณ์การกระจายตัวของคราบน้ำมัน ล่าสุด ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ได้พบกระจายตัวของคราบน้ำมันเข้าสู่พื้นที่ ต.บ้านเพ จ.ระยองแล้ว โดยอยู่ในบริเวณของเกาะ 3 แห่ง คือ เกาะปลาตีน, เกาะขาม และเกาะกุฎี โดยที่อยู่ระหว่างเกาะเสม็ด และปากท่าเรือแกลง ซึ่งยังถูกเฝ้าระวังว่าอาจเป็นพื้นที่ที่ 2 รองจากบ้านเพ ที่คราบน้ำมันจากอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดจะไหลตามร่องน้ำ และเข้าสู่เกาะทั้ง 3 แห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเฝ้าระวัง บริเวณปากท่าเรือแกลงแล้ว เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งเลี้ยงปลากระชัง, กุ้ง, หอย ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และชาวประมง

 
นายธีรพันธุ์ สานประดิษฐ์ หนึ่งในสมาชิก กลุ่มอนุรักษ์ จ.ระยอง กล่าวว่า รู้สึกกังวลกับสถานการณ์ขณะนี้มาก เนื่องจาก เริ่มเห็นฟิล์มน้ำมันลอยมาบ้างแล้ว และบริเวณระหว่างเกาะเสม็ด และปากท่าเรือแกลงนั้น เป็นแหล่งอนุบาลของปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งปลาเหล่านี้ อาจเริ่มมีปัญหาเรื่องการหายใจที่ผิวน้ำซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็วขึ้น
 
ทั้งนี้ นอกจากรอยฟิล์มบนผิวน้ำแล้ว ยังมีน้ำมันส่วนหนึ่งที่จะตกลงไปหน้าดิน ทำให้กุ้ง,หอย หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้รับอันตรายด้วย ซึ่งสัตว์น้ำหน้าดินจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากเมื่อตายจะไม่ลอยตัวให้เห็นเหมือนปลา แต่จะถูกคลื่นซัดหลังจากนั้น 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม เครือข่ายอนุรักษ์ จะมีการหาแนวทางเพื่อตรวจหาสารไฮโดรคาร์บอน ที่เป็นสารก่อมะเร็งในน้ำต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง