แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ

3 ส.ค. 56
14:07
1,633
Logo Thai PBS
แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ

การเร่งจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องจาก 23 องค์กรเอกชน ต่อหน่วยงานรัฐ นอกเหนือจากการเรียกร้องให้เข้าไปควบคุมตรวจสอบเหตุการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น แต่ข้อเท็จจริง แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ถูกจัดทำขึ้นแล้วเมื่อ 11 ปีก่อน และเป็นแผนหลักในการซักซ้อมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมัน แต่เมื่อนำมาเทียบกับการปฏิบัติจริงตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามแผนระดับชาติในบางข้อ

แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ จัดทำขึ้นในปี 2545 เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบทั้งรัฐและเอกชน ในการขจัดมลพิษทางน้ำ และยกระดับเหตุน้ำมันรั่วในน่านน้ำ ให้เป็นเหตุการณ์รุนแรงระดับชาติ เพราะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรและประชาชน ตามแผนกำหนดให้ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน หรือ กปน. เป็นผู้สั่งการสูงสุด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

การประชุม กปน.เพิ่งเกิดขึ้น 6 วัน หลังเกิดเหตุ และเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2547 การประชุมครั้งนี้ได้ มีมติตั้งคณะทำงาน 6 คน ติดตามสถานการณ์ รวบรวมข้อมูล และชี้แจงต่อสื่อมวลชน

พีทีที โกลบอล เคมิคอล อาจไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จำลองน้ำมันรั่ว ในการซ้อมแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ครั้งล่าสุด หรือ โคเร็กซ์ 2013 ร่วมกับภาครัฐและอุตสาหกรรมน้ำมันรายอื่นในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 8-10 พ.ค.2556 จะกลายเป็นเหตุการณ์จริง การซ้อมเมื่อ 3 เดือนก่อนยึดตามแผนป้องกันฉบับดังกล่าวเป็นหลัก

แต่การแก้ไขสถานการณ์จริง บริษัทได้พยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยตัวเอง และแจ้งขอความร่วมมือในหน่วยปฎิบัติการและหน่วยสนับสนุน โดยขาดการรายงานต่อ กปน.ซึ่งมีอำนาจสั่งการตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และทำให้การประสานขอความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศล่าช้า และการสนับสนุนอุปกรณ์กักคราบน้ำมันไม่เพียงพอจนเกิดปัญหาคราบน้ำตกค้างไปยังเกาะเสม็ด

การปฎิบัติงานครั้งนี้ยังขาดศูนย์ประสานงานตามโครงสร้างที่เป็นผู้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อป้องกันความสับสน จนทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกิดปัญหาวิกฤติด้านความเชื่อมั่น

แม้บริษัทปตท. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทพีทีพี ทีที โกลบอล เคมิคอล ได้จัดถ่ายทอดภาพเหตุการณ์เรียลทามจากเกาะเสม็ด พร้อมแถลงการขั้นตอนการดำเนินงานผ่านหน้าเว็บไซต์ปตท. หวังฟื้นความเชื่อมั่น แต่นายรุ่งโรจน์ เห็นว่า ปตท.ควรจะทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงาน และตั้งหน่วยงานกลางขึ้นที่เป็นตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญมาชี้แจงแทนจะช่วยสร้างความโปร่งใส่และความมั่นใจให้กับประชาชนได้มากกว่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง