น้ำท่วมปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรายังวิกฤติหนัก หลังฝนตกหนัก และมีน้ำไหลมาสมทบ

ภูมิภาค
4 ต.ค. 56
08:09
275
Logo Thai PBS
น้ำท่วมปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรายังวิกฤติหนัก หลังฝนตกหนัก และมีน้ำไหลมาสมทบ

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี ที่พบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลมาสมทบ และฝนตกหนักในพื้นที่

สถานการณ์น้ำท่วมเขตเทศบาลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เริ่มกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง หลังเมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เทศบาลตำบลกบินทร์ ได้แจ้งประกาศเสียงตามสาย ให้ประชาชนในตลาดเทศบาลตำบลกบินทร์ เร่งขนย้ายทรัพย์สินไว้ในที่สูง เนื่องจากมวลน้ำก้อนใหญ่จาก จ.สระแก้ว เริ่มไหลลงสู่พื้นที่ อ.กบินทร์บุรี ประกอบกับมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยล่าสุดปริมาณในแควหนุมาน ได้เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมผิวการจราจร ในตลาดเทศบาลตำบลกบินทร์ อีกเป็นระลอกที่สาม สูง 10-20 เซ็นติเมตร ทำให้ผู้ประกอบการบางราย ปิดประกาศขายตึกแถว เนื่องจากทนภาวะน้ำท่วมซ้ำซากไม่ไหว

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราเริ่มรุนแรงมากขึ้น ทำให้นายอนุกูล ตั้งคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ คือ อ.พนมสารคาม, อ.บางคล้า, อ.บ้านโพธิ์, อ.บางน้ำเปรี้ยว และ อ.ราชสาส์น ทั้งอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ดงน้อย อ.ราชสาส์น ซึ่งต้องรับน้ำที่ระบายจาก จ.ปราจีนบุรี ล่าสุดมีระดับน้ำสูงขึ้นอีก 30-50 เซ็นติเมตร จากการใช้พารามอเตอร์บินสำรวจ พบสภาพน้ำเข้าท่วมไร่นา บ่อกุ้ง บ่อปลา เสียหายจำนวนมาก ชาวบ้านที่นี่บอกว่า ปีนี้น้ำท่วมรุนแรงกว่าน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านใน ต.บางบาล อ.บางบาล พบจระเข้ยาวประมาณ 1 เมตรอยู่กลางทุ่งนา ก่อนจะแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาช่วยกันจับไว้ได้ เบื้องต้นคาดว่า เป็นจระเข้เลี้ยงที่หลุดออกมากช่วยน้ำท่วมก่อนหน้านี้ ขณะที่ระดับน้ำท่วมในอำเภอบางบาล วันที่ 4 ตุลาคม สูงขึ้นอีก 10 เซ็นติเมตร ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังคงประกาศเตือน ประชาชนในพื้นที่ต่ำของ อ.บางบาล, อ.ผักไห่ และ อ.เสนา เฝ้าระวังน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนฝนที่ตกใน จ.เชียงราย ทำให้แม่น้ำคำ ไหลกัดเซาะตลิ่งริมถนนสายเชียงแสน-เชียงของ บริเวณเชิงสะพานบ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน ลึกเข้ามากว่า 20 เมตร ล่าสุดดินริมตลิ่งยังคงทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ต้องนำไม้มากั้น และปิดป้ายเตือนเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่ชาวบ้านใน ต.เกรียงไกร อ.เมืองนครสวรรค์ ยังคงได้รับผลกระทบจากแม่น้ำน่านเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านที่ประสบภัยบางส่วน ต้องสร้างสะพานไม้ใช้เดินเข้าออกควบคู่ไปกันเรือในจุดที่น้ำท่วมสูง

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเหลือพื้นที่บางส่วนที่ยังถูกน้ำท่วม เช่นที่ ต.ชุมพวง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ระดับน้ำยังสูงกว่า 20 เซ็นติเมตร อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่แม่น้ำมูลยังเอ่อล้นเข้าท่วมใน 37 ชุมชนริมแม่น้ำ และนาข้าวใน ต.สำราญ อ.เมืองยโสธร ที่เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกหลังถูกน้ำท่วมนานกว่า 1 สัปดาห์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง