รัฐเตรียมปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม - ภาษีที่ดิน

24 ต.ค. 56
02:27
134
Logo Thai PBS
รัฐเตรียมปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม - ภาษีที่ดิน

2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีไปหลายประเภท เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงจากร้อยละ 30 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 20 ในปีนี้ ซึ่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการประเมินผลกระทบการปรับโครงสร้างภาษีต่อรายได้รัฐบาล ซึ่งพบว่าการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะทำให้รัฐขาดรายได้ช่วงปีงบประมาณ 2556-2563 ประมาณ 200,000 - 300,000 ล้านบาท รายได้ที่ลดลง ดูจะสวนทางกับรายจ่ายในโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท หน่วยงานภาครัฐจึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มรายได้ผ่านการปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้น

ตอนนี้ภาครัฐกำลังเตรียมหารายได้เพิ่มเติมจากภาษีที่มีฐานมาจากการบริโภค และการสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งคือภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่การหารายได้จากภาษีที่มีฐานมาจากเงินได้ต่างๆ จะทำได้ยากขึ้นในอนาคต เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีคนทำงานน้อยลงในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า
 
ปัจจุบันอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ  7 จากเพดานเดิมที่กำหนดไว้ร้อยละ 10 ซึ่งนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นแวต ก็น่าจะใช้เวลาอีก 3-4 ปี 
 
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่มีการซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรก่อน ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในปลายปีนี้ โดยภาษีที่ดินว่างเปล่า เคยเสนอให้จัดเก็บที่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าทรัพย์สิน แต่จะปรับให้สูงขึ้น ส่วนนิยามของคำว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะต้องเป็นที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่
 
การใช้เงินในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท, นโยบายรับจำนำข้าว หรือโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บอกว่า เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดมากขึ้น
 
จังหวัดที่มีโอกาสในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยต้องเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่ม และมีโครงข่ายคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียง เช่น มอเตอร์เวย์ สนามบินเชิงพาณิชย์ หรือเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รวมถึงเป็นจังหวัดบริเวณที่อยู่ตามบริเวณชายแดน ทั้งนี้ จังหวัดที่มีโอกาสในการเติบโต เช่น พิษณุโลก, อุบลราชธานี, และกาญจนบุรี ขณะที่ราคาที่ดินในต่างจังหวัดเริ่มลดความร้อนแรงแล้ว 
 
การเคลื่อนย้ายของคนในประเทศไปอยู่อาศัยในหัวเมืองรองมากขึ้น ถ้าระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังกระจายไม่ทั่วถึง และขาดการวางแผนจัดการที่ดี อาจทำให้เกิดปัญหามลภาวะ ปัญหาผังเมือง และปัญหาการจราจรตามมาได้  


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง