กระบวนการพิจารณาร่างนิรโทษกรรม

6 พ.ย. 56
13:42
62
Logo Thai PBS
กระบวนการพิจารณาร่างนิรโทษกรรม

นายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายคมสันต์ โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เสนอให้สภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส.เจ้าของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขอใช้สิทธิ์ถอนร่างกฎหมายออกจากสภาฯ เพื่อตัดความระแวงของสังคมไทย

อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ชี้ว่าไม่เพียงแค่พฤติกรรมในอดีตทั้งจากสภาล่าง และสภาสูง ที่ส่งผลให้สังคม หรือมวลชนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ไว้วางใจ แม้วุฒิสภาจะยืนยันไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างให้สภาฯหยิบร่างกฎหมายขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ 
 
แม้วุฒิสภาจะส่งสัญญาณถึงมวลชนผู้คัดค้านว่าพร้อมจะลงมติไม่รับหลักการ หรือยับยั้ง หรือคว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และส่งให้พิจารณาแล้ว แต่มวลชนหลากหลายกลุ่มกลับสะท้อนถึงความไม่มั่นใจไม่ไว้วางใจ และไม่เชื่อใจทั้งบริบทของสภาสูง และสภาล่างว่าจะยินยอมทิ้งร่างกฎหมายฉบับนี้จริง
 
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ปี 2550 เสนอให้สภาฯโดย ส.ส.เจ้าของร่าง คือนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากสภาฯ
 
นายเสรี กล่าวว่า เจ้าของร่างกฎหมายสามารถอ้างอิงข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 53 ที่กำหนดไว้ว่าญัตติที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว หากผู้เสนอจะถอน หรือแก้ไขได้ เพียงขอมติอนุมัติจากห้องประชุมได้โดยทันที
 
นายคมสันต์ กล่าวว่า เมื่อถอนออกไปแล้วจะสามารถลดความคลางแคลงใจของสังคมได้ ทั้งนี้ เพราะพฤติกรรมในอดีตจากสภาฯ และวุฒิฯกำลังเป็นเงื่อนไขสำคัญของความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น
 
นอกจากบริบทในอดีตของทั้ง 2 สภาฯแล้ว มีข้อสังเกตว่าประเด็นข้อกฎหมายก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน เพราะแม้วุฒิฯจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่รับหลักการ และส่งคืนสภาฯ ตามกระบวนการของมาตรา 147 ของรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 148 ก็เปิดทางให้สภาฯหยิบร่างฉบับเดิมขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ หลังรับคืนมาครบ 180 วัน
 
หรือถ้าเกิดกรณีที่สภาฯ ลุกขึ้นมาอ้างว่าร่างกฎหมายที่รับคืนมาเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน ก็สามารถหยิบมาพิจารณาใหม่ได้ทันที โดยหลังประธาน และคณะกรรมาธิการสามัญของสภาพิจารณาชี้ขาดแล้ว ก็ขอมติสภายืนยันเห็นชอบ ด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งก่อนนำขึ้นทูลเกล้า
 
แต่ถ้าวุฒิสภากลับเลือกแนวทางที่จะรับหลักการในวาระที่ 1 โดยมีเป้าหมายจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงในวาระ 2 และ 3 ให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ กำหนดกรอบการนิรโทษไว้ที่ประชาชน และคดีชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น ก็เท่ากับว่าวุฒิฯ เห็นต่างกับ สภาฯ ซึ่งมาตรา 147 เขียนไว้ว่า หากสภาฯ เห็นชอบตาม วุฒิฯ ก็นำขึ้นทูลเกล้าได้เลย
 
แต่ถ้าสภาฯ ไม่ได้เห็นชอบตาม วุฒิฯแก้ไขเปลี่ยนแปลงขั้นตอนต่อไปคือการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ซึ่งหากเวลานั้น กรรมาธิการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใหม่ แล้วสภาฯ และวุฒิก็เห็นชอบตรงกัน ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าในขั้นตอนสุดท้ายได้ 
 
แต่ถ้าวุฒิฯ และสภาฯยังคงเห็นต่างกัน ซึ่งในกรณีวุฒิฯนิ่งเฉย ไม่ส่งร่างคืนให้สภาฯภายใน 60 วัน แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ถือว่าวุฒิฯเห็นชอบตามสภาไปแล้ว แต่ถ้าวุฒิฯ กลับลงมติไม่เห็นชอบ ก็จะเข้าข่ายการยับยั้งอีกครั้ง
 
นั่นหมายความว่าจะกลับไปสู่หลักเกณฑ์การยืนยันร่างกฎหมายภายใน 180 วันอีกรอบหนึ่ง และเมื่อแล้วเสร็จ สภาฯก็สามารถลงมติด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง และส่งขึ้นทูลเกล้าได้เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง