กระบวนการยุติธรรม กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชน

19 ม.ค. 53
17:21
7,980
Logo Thai PBS
กระบวนการยุติธรรม กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชน

คดีนายเกียรติศักดิ์ กลิ่นบุญครอง อายุ 17 ปี ที่จ.กาฬสินธุ์ แล้วนำศพมาแขวนคอในพื้นที่อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2547 เป็นหนึ่งในคดีที่ถูกรื้อขึ้นมาสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีกครั้ง หลังพบว่าคดีนี้เป็นการฆาตกรรมอำพราง โดยมีผู้ต้องหาเป็นตำรวจถึง 6 นาย นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของคดีที่มีการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า การทำงานของตำรวจบางครั้ง ออกนอกกรอบของกฎหมายที่วางไว้ แต่ทุกสิ่งที่ทำก็เพื่อการรักษาความสงบสุขของประชาชน ประกอบกับบางครั้งมีกระแสกดดันจากสังคม ทำให้ต้องใช้วิธีที่รวบรัดตัดตอน

รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย นักอาชญาวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกว่า รูปแบบของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ถูกสร้างขั้นในลักษณะการกล่าวหา ทำให้ตำรวจต้องหาพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด เพื่อส่งฟ้องตามกำหนดระยะเวลา รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่เลือกปฏิบัติเชิงรุก เพื่อเน้นผลงาน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา

ขณะที่นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 ที่เน้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังคงขาดเรื่องการปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

สำหรับปัจจุบันแนวโน้ม ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาดีขึ้น เนื่องจากมีองค์กรสังคม และสื่อมวลชนร่วมตรวจสอบ การทำงานของตำรวจ แต่ในข้อกฎหมาย และพระราชกำหนดบางฉบับ เช่น พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การบังคับใช้พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่ให้อำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 30 วัน ทำให้หลายคดีจบแบบมีปริศนา ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการการเยียวยาอย่างจริงจัง


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง