รัฐเตรียมนำร่อง ’ธนาคารที่ดิน’ ทั่วประเทศ

2 ส.ค. 53
08:07
49
Logo Thai PBS
รัฐเตรียมนำร่อง ’ธนาคารที่ดิน’ ทั่วประเทศ


รัฐบาลมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาที่ดินอยู่หลายมาตรการ หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารที่ดิน ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งธนาคารที่ดินเป็นองค์กรมหาชน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลักการสำคัญคือการจัดหาที่ดินของรัฐและเอกชนที่ไม่ได้ทำประโยชน์มาให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกิน นโยบายนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรยากจนได้มากน้อยแค่ไหน
พื้นที่ซึ่งเป็นทั้งเพิงพัก และแปลงเพาะปลูก คือสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินบนเนื้อที่กว่า 140 ไร่ ของชาวชุมชนบ้านแม่อ่าว อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยที่ดินแปลงดังกล่าวถูกคนภายนอกกว้านซื้อไว้ โดยไม่ใช้ประโยชน์มานานกว่า 40 ปี

ปี 2543 สุพล ใสสี และชาวบ้านอีกกว่า 90 ครัวเรือน รวมกลุ่มเข้าถางพื้นที่ เพื่อใช้ทำกินและอยู่อาศัย แม้ว่ารู้ว่านี่คือการบุกรุก และต้องถูกดำเนินคดี แต่จำเป็นต้องเสี่ยง เพราะว่าไม่อยากเป็นเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ซึ่งอาจกลายเป็นแรงงานรับจ้างในท้ายที่สุด

สถานการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับพื้นที่ข้างเคียง อย่างชุมชนบ้านไร่ดง และบ้านหนองสมณะ ที่ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่กว่า 420 ไร่ ซึ่งเจ้าของปล่อยทิ้งร้าง โดยมีการสร้างกติกาเพื่อถือปฏิบัติร่วมกันในรูปแบบของโฉนดชุมชน ที่แต่ละคนถือสิทธิทำกิน พร้อมกับการดูแลสภาพแวดล้อม โดยจะไม่มีการนำที่ดินไปขายหรือให้ผู้อื่นเช่าต่อ แต่เมื่อแนวคิดโฉนดชุมชนยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ชาวบ้านที่ร่วมเคลื่อนไหวถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกจำนวนหลายสิบราย แต่ศาลก็ได้มีคำสั่งยกฟ้องทุกรายในเวลาต่อมา

ธนาคารที่ดิน เป็นหนึ่งในนโยบายที่ตั้งเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกิน โดยจะทำหน้าที่จัดหาที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรได้เข้าทำประโยชน์ในรูปแบบของโฉนดชุมชน ซึ่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนรองรับ

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จะพยายามนำร่องธนาคารที่ดินในทุกภูมิภาค โดยกำลังพิจารณาพื้นที่หลายแห่ง และแม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งธนาคารที่ดินยังไม่แล้วเสร็จ แต่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ก็รับไปดำเนินการล่วงหน้าอยู่ในปัจจุบัน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง