สำเร็จหรือล้มเหลวแก้ค้ามนุษย์ ชี้รัฐพยายามจำกัดคดีให้น้อย หวังเลื่อนอันดับ

สังคม
5 มิ.ย. 58
07:20
1,483
Logo Thai PBS
สำเร็จหรือล้มเหลวแก้ค้ามนุษย์ ชี้รัฐพยายามจำกัดคดีให้น้อย หวังเลื่อนอันดับ

เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์เผยสถานการณ์ค้ามนุษย์ในไทยยังรุนแรง และค้ามนุษย์ในหลายรูปแบบมากขึ้น พบปัจจัยทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากมนุษย์

วันนี้ (5 มิ.ย.2558) เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ATN) จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งชาติ ปี 2558 เปิดเผยข้อมูลในเวที "ความสำเร็จหรือความล้มเหลว? และแนวทางแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ไทยสู่อาเซียน" พบว่าปัญหาค้ามนุษย์ยังเป็นปัญหาที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเด็ก ผู้หญิง รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
 
นายปภพ เสียมหาญ ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในปัญหาค้ามนุษย์ไม่สามารถสะท้อนได้จากสถิติคดี หรือจำนวนการจับกุมได้ หากแต่อยู่ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เสียหายหรือผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

จากการติดตามการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พบว่าในการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจำกัดคดีให้มีเหลือน้อยที่สุดเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกา จัดอันดับในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด หรือ Tier 3 แต่ปัญหาค้ามนุษย์ยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจังและตรงจุด

ขณะที่การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์เพื่อแก้ปัญหายังคงมีความล้มเหลวและไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง จึงเสนอว่าควรจะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและการเยียวยาผู้เสียหายไม่ให้กลับเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์อีกครั้ง และภาครัฐควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ระดับท้องที่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถ่องแท้ถึงกฎหมายการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาในการคัดแยกผู้เสียหายและการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงขอให้เปิดโอการให้ทีมสหวิชาชีพในภาคประชาสังคมได้มีส่วนในการทำงานร่วมกับภาครัฐได้มากขึ้นด้วย
 
ขณะที่ปัญหาค้ามนุษย์ในเด็ก นายพลิศร โนจา ตัวแทนศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกละเมิด เปิดเผยว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์ในกลุ่มเด็กยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พบว่าเด็กที่ถูกละเมิดมีอายุน้อยลงจากเมื่อก่อน และถูกนำมาหาผลประโยชน์การการถูกบังคับเป็นขอทานและที่พบส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวกัมพูชา เนื่องจากยังคงมีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การทำงานของภาครัฐยังล่าช้าและไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา จึงเสนอว่าภาครัฐควรจะมีการปรับแก้ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาขอทานในปัจจุบัน ที่มีความซับซ้อนมากว่าในอดีต และขอให้ภาครัฐได้กำหนดมาตรการในระยะยาวให้มีความชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง ทั้งการป้องกันตามแนวชายแดน การวางระบบกลไกการรับแจ้งเหตุ เพื่อให้ตอบสนองกับการให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วยิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง