ม็อบเกษตรกร กฟก. 3,000 คน ปักหลักสะพานพระราม 8 กดดันรัฐซื้อคืนหนี้ให้มีที่ดินทำกิน

สังคม
1 มี.ค. 59
12:41
639
Logo Thai PBS
ม็อบเกษตรกร กฟก. 3,000 คน ปักหลักสะพานพระราม 8 กดดันรัฐซื้อคืนหนี้ให้มีที่ดินทำกิน
กลุ่มสมาชิก กฟก. 3,000 คน จาก 26 จังหวัด นัดชุมนุมใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี กทม. กดดันรัฐบาลให้ช่วยเหลือ หลังถูกธนาคารพาณิชย์และเลขาธิการ กฟก. เมินเอ็มโอยู ไม่อนุมัติขาย-ซื้อหนี้ช่วยเหลือเกษตรกร เผยมูลค่าหนี้เกษตรกรจำนองที่ดินทั่วประเทศพุ่ง 3 แสนล้านบาท

จากกรณี แกนนำสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จำนวน 3,000 คน จาก 26 จังหวัดทั่วประเทศ มารวมตัวกันที่ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่เมื่อคืน (29 ก.พ.) ที่ผ่านมา

วันนี้ (1 มี.ค. 2559) นายมนู สินพร แกนนำกลุ่มสมาชิก กฟก. จาก จ.ฉะเชิงเทรา ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ไทยพีบีเอส ว่า สาเหตุของการรวมตัวครั้งนี้ เพื่อกดดันให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาล เยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้และไม่มีที่ดินทำกิน จากการถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และนำที่ดินของกลุ่มเกษตรกรไปขายทอดตลาด หลังจากธนาคารพาณิชย์ ไม่ทำตามบันทึกความเข้าใจที่ทำร่วมกันระหว่างธนาคาร กฟก. และเกษตรกร ที่ให้ขายหนี้ของเกษตรกรให้ กฟก. ขณะที่ นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการ กฟก. ไม่ได้ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและเกษตรกร ทั้ง 2 ฉบับ ในการเซ็นอนุมัติใช้เงิน 3,000 ล้านของกองทุน ซื้อหนี้คืนจากธนาคารให้เกษตรกร

“กฟก. ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ กำหนด แต่ผ่านมา 17 ปี สามารถช่วยเกษตรกรผ่อนผันหนี้ และมีที่ดินกลับคืนไปไว้ทำมาหากินแค่หลักร้อยคน คิดแล้วอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งขณะนี้มูลค่าหนี้ที่เกษตรกรนำที่ไปจำนองไว้กับธนาคารสูงถึง 3 แสนล้านบาท ทำให้หลายครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน หรือต้องเช่าที่ดินของตัวเองในการทำการเกษตร ขณะที่บางคนถูกบังคับขายที่แล้ว 3 แปลง ได้เงินมา 8 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชำระเงินให้ธนาคารได้หมด ทั้งที่เงินต้นแค่ 4 ล้านบาท แต่ดอกเบี้ยสูงถึง 19 ล้านบาท” แกนนำกลุ่มสมาชิก กฟก. จาก จ.ฉะเชิงเทรา ระบุ

นายมนู กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาในทุกรัฐบาลไม่เคยคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จึงอยากให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยเหลือคนยากจน เพราะหากธนาคารพาณิชย์ขายให้ กฟก. และทาง กฟก.รับซื้อหนี้ไว้ ตามข้อบัญญัติของ พ.ร.บ.กงอทุนฟื้นฟูฯ กฟก.จะต้องชำระหนี้ให้เกษตรกรกึ่งหนึ่ง อีกทั้ง ดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 1 บาทต่อปี และไม่มีค่าปรับใด ๆ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 19 บาทต่อปี

 

“ที่มาร่วมชุมนุมกันไม่ได้ตั้งใจจะละเมิดกฎหมายของรัฐบาล แต่กลุ่มเกษตรกรก็มี พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ คุ้มครองอยู่ ซึ่งตอนนี้ได้ส่งตัวแทน 3-4 คน เข้าร่วมหารือกับ รมว.เกษตรฯ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาภายในปี 2559 ซึ่งคาดว่าหลังเที่ยงอาจได้ข้อสรุปเบื้องต้น แต่ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข หรือไม่มีข้อเสนอที่ทางกลุ่มสมาชิก กฟก.พอใจ ก็ทางกลุ่มจะเดินหน้าชุมชุนต่อไป จนกว่าจะปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” นายมนู แจงเพิ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง