วันนี้ (29 เม.ย.) นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า เนื่องจากสะพานภูมิพลนั้น
มีความสูง จากระดับน้ำทะเล ประมาณ 54 เมตร ทำให้มีเชิงลาดสะพานที่ชัน 3.5-5 เปอร์เซนต์ และมีความยาว ประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้รถจักรยานยนต์ต้องใช้ความเร็ว ในระยะทางที่ยาวเพื่อไต่ระดับความสูงถึง 50 เมตร อีกทั้งทางลงที่ลาดชัน และมีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เช่นกัน ประกอบกับความเร็วลมบนสะพานค่อนข้างแรง ส่งผลให้การควบคุมความเร็วและการทรงตัวของจักรยานยนต์ทำได้ยาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
จากสถิติอุบัติเหตุตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ถึงเดือนเมษายน 2559 พบว่า บนสะพานภูมิพล เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 169 ครั้ง เป็นรถยนต์ทุกประเภท 133 ครั้ง คิดเป็น 79 เปอร์เซนต์ และรถจักรยานยนต์ (ฝ่าฝืนป้ายห้าม) ทั้งสิ้น 36 ครั้ง คิดเป็น 21 เปอร์เซนต์ ในการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย และ บาดเจ็บ จำนวน 32 ราย ทั้งที่มีข้อบังคับจราจรห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานอยู่แล้ว สำหรับขั้นตอนการดำเนินการประกาศบังคับใช้เครื่องหมายจราจรของกรมทางหลวงชนบท
1.โครงการก่อสร้างสะพานของกรมทางหลวงชนบท ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนการเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ต้องติดตั้งเครื่องหมาย ป้ายจราจร ป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และป้ายบังคับ ต่างๆ ให้เรียบร้อย และส่งให้เจ้าพนักงานจราจร ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร หรือเจ้าพนักงานจราจรในจังหวัดนั้นๆ พิจารณาให้ความเห็นพร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยร่วมกัน
2.หลังจากนั้นกองบังคับการตำรวจจราจรหรือเจ้าพนักงานในจังหวัดนั้นๆ จะเป็นผู้ออกประกาศข้อบังคับจราจรตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกก่อนการเปิดให้ประชาชนใช้บริการ
ดังนั้น ป้ายห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานภูมิพล จึงเป็นคำสั่งที่มีข้อบังคับจราจรรองรับอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดสมุทรปราการ ได้ประสานงานไปที่กรมเจ้าท่าให้จัดทำท่าเทียบเรือข้ามฟาก ระหว่างฝั่งอ.พระประแดงกับฝั่งถนนพระราม 3 โดยให้ประชาชนที่ขับรถจักรยานยนต์ที่ใช้สะพานภูมิพลหันมาใช้แพข้ามฟากแทน
กรมเจ้าท่าได้จัดให้มีบริการแพข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากท่าเทียบเรือปากคลองลัดโพธิ์ – พระราม 3 เพื่อเป็นทางเลือก โดยเปิดให้ใช้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยกรมทางหลวงชนบทอนุญาตให้กรมเจ้าท่าใช้พื้นที่บริเวณด้านสวนสุขภาพลัดโพธิ์เป็นทางสัญจรเข้า – ออกท่าเทียบเรือ ฝั่งปากคลองลัดโพธิ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์ใช้ท่าเทียบเรือดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับวันละประมาณ 2,100 – 2,200 คัน ทำให้ประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ขึ้นไปใช้บนสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 สามารถใช้แพข้ามฟากข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้สมบูรณ์ ทั้ง 2 ช่วง ต่อเนื่องกัน