"คิงสเกต" บริษัทแม่ "อัคราฯ" ยืนยันเหมืองชาตรีมีระบบจัดการดีที่สุดในโลก

สิ่งแวดล้อม
15 พ.ค. 59
14:53
708
Logo Thai PBS
"คิงสเกต" บริษัทแม่ "อัคราฯ" ยืนยันเหมืองชาตรีมีระบบจัดการดีที่สุดในโลก
บริษัท คิงสเกต คอนโซลิเดต จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ผู้ประกอบการเหมืองทองชาตรีใน จ.พิจิตร ยืนยันว่าเหมืองทองไม่เคยสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โวยสื่อมวลชนไทยรายงานข่าวเหมืองทองอย่างไร้ความรับผิดชอบ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ ของออสเตรเลีย รายงานว่า บ.คิงสเกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส ผู้ประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เตรียมขอให้รัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุนการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ไม่ต่อใบอนุญาตประกอบการทำเหมืองแร่และให้ปิดเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ

ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ รายงานว่า เหมืองทองชาตรีเป็นเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีการจ้างงานประมาณ 1,000 คน ร้อยละ 65 เป็นคนในท้องถิ่น และผลิตทองคำได้ 100,000 ออนซ์ต่อปี และยังได้รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายรอส สมิธ เคิร์ก ประธาน บ.คิงสเกตภายหลังจากรัฐบาลไทยมีมติให้ยุติการทำเหมืองว่า ขณะนี้บริษัทกำลังรอเอกสารแจ้งมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก่อนที่จะดำเนินตามกฎหมาย

นายเคิร์กยังยืนยันด้วยว่า เหมืองชาตรีมีการจัดการตามมาตรฐานขั้นสูง

"เหมืองแห่งนี้เป็นเหมืองที่มีการจัดการดีที่สุด อาจจะดีที่สุดในโลก หลายสิ่งที่มีการรายงานนั้นไม่เป็นความจริง" นายเคิร์กให้สัมภาษณ์สำนักข่าว AAP และยังแสดงความเห็นอีกด้วยว่า การตัดสินใจของรัฐบาลไทยนั้นเกิดจากการนำเสนอข่าวอย่างไม่รับผิดชอบของสื่อมวลชน

บริษัทได้ดำเนินการตามมาตรฐานอย่างเหมาะสมมาโดยตลอด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และเตือนว่าคำสั่งปิดเหมืองทองของรัฐบาลไทยจะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อศักยภาพของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอนาคต และทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจระดับทวิภาคี ระหว่างออสเตรเลียกับไทยสั่นคลอนด้วย

ขณะที่ น.ส.ธัญญารัศม์ สินทรธรรมทัช แกนนำชาวบ้านที่ร่วมกันต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ เตรียมเรียกร้องขอยกเลิกประทานบัตรของเหมืองทองทั้งหมด ไม่ให้มีการขยายพื้นที่ประกอบการเหมืองแร่ ที่ใกล้กับบ้านของประชาชนในเขตรอยต่อทั้ง 3 จังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านเพิ่มอีก โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายของประชาชนที่มีอยู่แล้ว

แกนนำชาวบ้านยังบอกด้วยว่าในช่วงนี้ต้องการให้เร่งทำแผนการฟื้นฟูโดยทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและบริษัทผู้ประกอบการเหมืองทอง

นอกจากนี้ยังต้องการให้มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพื้นที่หลังการปิดเหมือง โดยเห็นว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูพื้นที่ เพราะประชาชนเห็นบทเรียนจากเหมืองคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่หลังจากการปิดเหมืองแล้วก็ไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่

สำหรับ มติ ครม.วันที่ 10 พ.ค.2559 นั้นเป็นการรับทราบและอนุมัติให้ดำเนินการตามมติของ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีมติว่า

1.ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร
2.ในกรณีของบริษัท อัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ เห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง