ประสบการณ์การทำงาน เกือบ 40 ปี ของนายทองดี แสงห้าว คือเหตุผลที่ทำให้นายจ้างยังคงจ้างงานเขาต่อ แม้จะมีอายุถึง 62 ปี นายทองดี เปิดเผยว่า ในอดีตเคยทำทุกหน้าที่ด้านการผลิตในโรงงานแห่งนี้ ดังนั้น หน้าที่ใหม่ที่คอยตรวจสอบเครื่อง จึงถือว่าไม่หนักและยากเกินไป ภายในโรงงานแห่งนี้ยังมีผู้สูงอายุที่ยังได้รับการว่าจ้างอีกกว่า 60 คน และส่วนใหญ่ถูกปรับย้ายตำแหน่งตามความเหมาะสม กลุ่มนี้มีประสบการณ์ไว้ใจได้
การปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานต่อเป็นแนวคิดที่คณะทำงานระดับปฏิบัติการส่งเสริมให้เกิดการทำงานสำหรับแรงงานสูงวัย พยายามผลักดันให้ภาคเอกชนนำมาปรับใช้ เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะเห็นว่าวิธีนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้และลดภาระรัฐด้านสวัสดิการ
การที่ผู้สูงอายุยังมีงานทำอาจช่วยให้คนกลุ่มนี้ยังมีรายได้ แต่นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สะท้อนว่าในด้านเศรษฐศาสตร์ วิธีนี้อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะภาคเอกชนจะมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การจ้างงานต่อเนื่องควรเป็นไปตามความพร้อมและความสมัครใจทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง แต่หากจะใช้วิธีนี้ นายจ้างต้องเริ่มใช้ระบบประเมินคุณภาพให้ค่าจ้างตามประสบการณ์ ไม่ใช่ตามวุฒิการศึกษา ควบคู่การปรับย้ายตำแหน่งที่มีความเหมาะสม เช่น ให้ผู้สูงอายุเป็นที่ปรึกษาคนรุ่นใหม่และยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ควรมีมาตรการรัฐเข้ามาส่งเสริมและแบ่งเบาภาระในการปรับระบบสู่การทำงานรองรับผู้สูงวัย