ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การเยือนไทยครั้งที่สองของ "ออง ซาน ซู จี"

ต่างประเทศ
23 มิ.ย. 59
07:20
1,103
Logo Thai PBS
การเยือนไทยครั้งที่สองของ "ออง ซาน ซู จี"
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.2559 ของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมานับเป็นการเยือนไทยครั้งที่ 2 นับจากเมื่อปี 2555 ที่นางซู จีเดินทางมาร่วม World Economic Forum แต่นี่จะเป็นการเยือนไทยครั้งแรกหลังจากพรรค NLD ชนะเลือกตั้ง

เว็บไซต์ www.siamintelligence.com เขียนรายงานถึงการมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2555 ไว้ในบทความเรื่อง"เมื่อปราศรัยเพียงครั้งเดียวของอองซานซูจี ส่งผลสะเทือนต่อปัญหาแรงงานพม่าในไทย" มีเนื้อหาดังนี้ 

ภารกิจแรกของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านเมียนมา หลังจากถูกควบคุมอยู่ในประเทศเป็นเวลานานถึง 24 ปี ก็คือการเดินทางมาเยี่ยมแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย ที่ตลาดกุ้งมหาชัย แหล่งการค้าที่ได้ชื่อว่า มีชุมชนแรงงานเมียนมาหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

เพียงแค่ภารกิจแรกนี้ ออง ซาน ซู จีก็ปลดปล่อยศักยภาพของเธอออกมาอย่างเฉิดฉาย การได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากชาวเมียนมานับหมื่น เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ล่วงหน้า แต่ประเด็นที่เธอหยิบมานำเสนอกลับสั่นสะเทือนคาบสมุทรอินโดจีนฝั่งตะวันตกอย่างรุนแรง และอาจกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญระหว่างไทยกับเมียนมาได้ในอนาคต

ถ้าจะให้เปรียบเปรยก็อาจเป็นเหมือนแผ่นดินไหว (ทางการเมือง) ครั้งใหญ่ที่กระทบทั้งรัฐบาลเต็งเส่ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย-เมียนมาไปในคราวเดียว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดกุ้งมหาชัยนี้เอง

จากคำปราศรัยของซู จีมีแต่ความนอบน้อมถ่อมตน เน้นขอความร่วมมือให้คนเมียนมาอย่าสร้างปัญหากับประเทศไทย แต่เมื่อมองให้ลึกซึ้งลงไปกว่านั้นแล้ว ซูจีกำลังหยิบยกประเด็นปัญหาสำคัญของไทย-เมียนมาที่ถูกเพิกเฉยมานานขึ้นมาสู่ความสนใจของโลก (นี่คือภารกิจแรกของเธอในต่างประเทศด้วยซ้ำ)

ปัญหาแรงงานเมียนมาเป็นความสลับซับซ้อนที่สืบเนื่องมานาน ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากระบอบการปกครองแบบรัฐบาลทหารของเมียนมาที่ไม่เอื้อต่อชนกลุ่มน้อย และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ทำให้คนเมียนมาต้องอพยพมายังประเทศไทยเพื่อทำมาหากิน ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวทั้งในไทยและในบ้านเกิดที่เมียนมา

ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน ค่าแรงของแรงงานไทยเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนต้นทุนเพิ่มสูง เมื่อได้แรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาที่ค่าแรงถูก ไม่เลือกงาน จึงสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

แต่ภายใต้ผลประโยชน์แบบวิน-วิน ก็มีปัญหาปลีกย่อยแทรกตัวอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตของแรงงานเมียนมาที่ต่ำต้อย (แต่ก็ต้องทนเพื่อหาเงิน) การเอาเปรียบของนายจ้าง ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างแรงงานเมียนมากับนายจ้างไทย ข้อกฎหมายแรงงานอพยพ กำแพงภาษา และปัญหาอาชญากรรมย่อยๆ อื่นๆ ที่เกิดได้ทั่วไปตามชุมชนผู้อพยพ เรื่องเหล่านี้เป็นปมปัญหาที่คนไทยรู้ดีแต่ไม่อยากพูดถึง และ “ทำเป็นเฉยๆ ไป” มานมนาม

พลันที่อองซานซูจีเดินทางมาถึงมหาชัยและขึ้นปราศรัยบนระเบียงตึกแถวที่เก่าซอมซ่อ ประเด็นความสัมพันธ์เรื่องนี้กลับถูกปลุกมาสู่สาธารณะอีกครั้ง

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมียนมากำลังพัฒนาตัวเองทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นในรอบปีหลังๆ และอีก 10-20 ปีข้างหน้า คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนเมียนมา จะดีขึ้นกว่าวันนี้มาก แรงงานเมียนมาทุกวันนี้ที่โหยหาอยากกลับบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ย่อมจะกลับไปทำงาน ประกอบอาชีพในเมียนมา โดยอาศัยเงินเก็บที่ได้จากการทำงานในไทยเป็นทุนรอนตั้งต้น และจะเริ่มเข้าสู่ภาวะ “นายทุนน้อย” อย่างที่แรงงานไทยเคยผ่านมาก่อน

แรงงานเมียนมากลุ่มนี้จะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความสัมพันธ์ต่อประเทศไทยในอนาคต ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย นายจ้างไทย และคนไทยโดยทั่วไปตั้งแต่วันนี้ ที่จะต้องกลับมามองแรงงานเมียนมาด้วยมุมมองใหม่ ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยดีอย่างมีมาตรฐานแรงงานสากล เพื่อสานสัมพันธ์อันดีกับแรงงานเมียนมาเอาไว้ และอาศัยความเชื่อมโยงอันนี้เป็นบ่อเกิดแห่งการผลักดันเศรษฐกิจไทย-เมียนมาในอนาคตต่อไป

อองซานซูจีในความทรงจำของคนทั้งโลก เป็นสตรีผอมบางที่ถูกกักขังในบ้านพักอย่างยาวนาน เป็น “สัญลักษณ์” ของการต่อสู้ทางการเมืองและเสรีภาพในเมียนมา แต่หลังจากการปราศรัยที่มหาชัย เธอก็เปลี่ยนจาก “สัญลักษณ์” ที่นั่งอยู่เฉยๆ ในบ้าน มาเป็น “นักการเมือง” ที่ต่อสู้เพื่อประโยชน์ของชาวพม่าอย่างเต็มตัวแล้ว

และฝ่ายรับที่ต้องรับมือการรุกแบบอ่อนน้อมแต่ทรงพลังของซูจี ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากคนไทยนั่นเอง 

การกลับมาครั้งที่สองของ "ออง ซาน ซู จี"

หลายฝ่ายประเมินว่า การเดินทางมาเยี่ยมแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ของนางอองซานซูจีครั้งนี้ จะแตกต่างจากเมื่อ 4 ปี ก่อน ด้วยปัจจัยหลายประการ

อย่างแรก เธอมาพร้อมชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และพร้อมนำพาประเทศเมียนมา เดินหน้าต่อไปด้วยการปลดล็อกปัญหาต่างๆ มากมาย ที่ทั้งชาวเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คาดหวังว่าจะได้พบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประการต่อมา คือการเปิดประเทศของเมียนมา ที่จะสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวเมียนมาสามารถลืมตาอ้าปากได้ อย่างน้อยที่เห็นชัดเจนใกล้กับประเทศไทย ก็คือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่กำลังเดินหน้าด้วยทุนจากประเทศต่างๆ แม้แต่ประเทศไทย

ประกอบกับเสียงสะท้อนจากแรงงานชาวเมียนมา ที่เข้ามาหาเลี้ยงปากท้องในประเทศไทย ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน แม้ว่าจะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลด้วยกันก็ตาม แต่ยังมีแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมาก ที่ถูกกดขี่รังแก ถูกเอาเปรียบ และต้องใช้ชีวิตอย่างผิดกฎหมาย ฯลฯ

ทำให้แรงงานเหล่านี้มีความหวังว่า หากประเทศของเขาถูกปลดปล่อยจากรัฐบาลทหาร พอจะมองเห็นเค้าลางในประชาธิปไตย มีผู้นำในใจอย่างอองซานซูจี ก็เชื่อว่าประเทศของเขาจะเดินไปข้างหน้าได้ และนั่นหมายความว่า โอกาสการกลับบ้านก็แจ่มชัดขึ้น

การกลับมาครั้งที่สองของนางอองซานซูจีครั้งนี้ จะแตกต่างจากครั้งก่อนอย่างสิ้นเชิง จะไม่ใช่การมาเพื่อให้กำลังใจชาวเมียนมา ให้อดทนทำงานเพื่อประเทศไทย ให้ปฏิบัติตัวให้ดี เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยให้ตลอดรอดฝั่ง อีกแล้ว แต่เป็นการกลับมาเพื่อบอกถึงความเปลี่ยนไปของเมียนมาในทางที่ดีขึ้น บอกถึงอนาคตที่เมียนมาจะเดินต่อไป ทั้งในทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่จะเท่าเทียมกับประเทศอื่น ฯลฯ

และอาจเป็นการส่งสัญญาณ เพื่อชวนเพื่อนร่วมชาติ “กลับเมียนมา” เพื่อไปร่วมกันรื้อฟื้น ซ่อมสร้างประเทศชาติ ก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง