นายกฯ เตรียมไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 71 ที่สหรัฐฯ

การเมือง
16 ก.ย. 59
20:47
273
Logo Thai PBS
นายกฯ เตรียมไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 71 ที่สหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีเผยเตรียมเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 71 ที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 18 - 25 ก.ย.นี้ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้แล้วเกือบ 28,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด

วันนี้ (16 ก.ย.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้ประชาชนว่า ขอแสดงความยินดีกับทีมนักกีฬาของไทยรวมถึงทีมงานทุกคน ในการแข่งขันกีฬา “พาราลิมปิก เกมส์ 2016” ณ เมือง ริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล ที่ล่าสุดประสบความสำเร็จ 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงินและ 3 เหรียญทองแดง นับว่าเกินความคาดกมาย ที่ตั้งเป้าไว้อย่างน้อย 4 เหรียญทอง ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันผู้พิการครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 46 คน เข้าร่วมการแข่งขัน 10 ชนิดกีฬา จากทั้งหมด 23 ชนิดกีฬา

ผมเคยจำได้ว่าในการได้พบปะพูดคุยกับคณะนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย เมื่อ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น ทราบว่าแต่ละคนได้ฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ ต่างมุ่งมั่นที่จะนำ “ชัยชนะ” และความสุขกลับมาฝาก เป็นของขวัญให้กับคนไทยทุกคน แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความตั้งใจ

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาทุกคนที่กำลังอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับบางคน ก็ขอให้สั่งสมประสบการณ์ ให้เข้มแข็ง เพื่อความสำเร็จในวันข้างหน้า เช่นเดียวกับการเดินหน้าประเทศ ถึงแม้จะผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านความยากลำบาก แต่จะบรรลุเป้าหมายในที่สุด หากได้รับการพัฒนาอย่างมีระเบียบแบบแผน มียุทธศาสตร์ และผมก็หวังว่านักกีฬารุ่นพี่–รุ่นน้อง จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่นเดียวกับกลไก “ประชารัฐ” ที่รัฐบาล พยายามสร้างความเชื่อมโยง “ห่วงโซ่คุณค่า” ทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลให้การดูแลคนพิการเป็นไปในทางที่ “ดีขึ้น” ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะสิทธิคนพิการ เพื่อให้มีส่วนร่วมในสังคมเพิ่มมากขึ้น สามารถดำรงชีวิตประจำวันในสังคมได้ อย่างเท่าเทียมและมีความสุข เป็นบุคลากรที่มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับการบูรณาการหน่วยงาน ร่วมพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรได้มีที่ดินทำกิน ผลการปฏิบัติภายใต้คำสั่งของ คสช.ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ดำเนินการยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมาทำการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน ก่อนที่จะจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร ต่อไป

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการยึดและรื้อถอน โดยสามารถยึดคืนได้ทันที 28 แปลง เนื้อที่เกือบ 28,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด โดยไม่มีผู้คัดค้าน สำหรับการปรับปรุงพัฒนาที่ดินนั้น เราจะต้องดำเนินการแบบ “บูรณาการ” หลายหน่วยงาน ดังนี้ (1) กรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงดินให้เหมาะสมมากขึ้นกับการเกษตรกรรม (2) กรมชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ ฝายทดน้ำ ระบบกระจายน้ำ (3) กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ซึ่งมีความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและการส่งออกปีละมากกว่า 2 แสนตัว

(4) กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เป็นรายได้เสริม ระหว่างรอผลผลิตทางการเกษตร (5) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ (6) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะดูแลและสนับสนุนเพิ่มเติมให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด (7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมให้ความรู้ การทำปศุสัตว์ แนะนำการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาสู่ “การเกษตรแปลงใหญ่” ต่อไป

สำหรับพื้นที่มีจุดเด่นอยู่ใกล้ถนน ใกล้แหล่งท่องเที่ยว ก็อาจจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตรได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวเข้ามาดูแลเพิ่มเติมอีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตามแผนงานของ ส.ป.ก.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในต้นปี 2560 การดำเนินงานในระยะต่อไป ช่วงที่เหลือของปี 2559 จะดำเนินการยึดคืนพื้นที่ เพื่อการพัฒนาตามแนวทางเบื้องต้นอีก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 2,188 ไร่ ใน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครราชสีมา ระยะสุดท้าย ห้วงปี 2560 ตาม Road Map เราจะแบ่งการดำเนินการยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีก 28 แปลง เนื้อที่ประมาณ 28,000 ไร่

นอกจากนั้น ยังได้มีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการบูรณาการทุกหน่วยงาน จะใช้ Agri-Map ช่วยในการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ และใช้รูปแบบ “สหกรณ์” เข้า มาดูแลพื้นที่ โดยเราได้จัดทำโมเดลการแบ่งสรรพื้นที่ ออกไปตามการใช้งาน เป็น 4 ส่วน คือ (1) พื้นที่อยู่อาศัย (2) พื้นที่ทำกิน (3) พื้นที่ส่วนรวม เช่น สำนักงานสหกรณ์ แปลงรวม ตลาดเกษตรกร เป็นต้น (4) พื้นที่ป่า ถ้ามีก็จะต้องช่วยกันดูแลป่าปลูกป่าเพิ่มเติม

นโยบายนี้ นอกจากจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลูกหลาน และการใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระเบียบแบบแผน ยังเป็นมาตรการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะ “ที่ดิน” ทั้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระดับฐานราก ซึ่งเป็น “รากแก้ว”ของประเทศ และปลูกฝังการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานราชการ การทำงานร่วมกันของชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ และกลไก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคี ให้กับชุมชนอีกด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 18 - 25 ก.ย. 2559 ผมจะต้องเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลายการประชุม ที่มีความสำคัญต่อบทบาทของไทยในเวทีโลก อาทิเช่น 1. การประชุมสุดยอดผู้นำด้านผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นเวทีที่เราจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กว่า 40 ปี กับผู้นำ 34 ประเทศที่ได้รับเชิญ เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการรับมือกับการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศ “กลางทาง” ที่ผ่านมานั้นเราได้ดำเนินการตามหลักมนุษยชนสากล มาโดยตลอด และเป็นโอกาสอันที่ที่จะขอความร่วมมือ ทั้งจากประเทศ “ต้นทาง” และ “ปลายทาง” ในการที่จะแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว ใน 3 ประเด็นหลัก คือ (1) เงินทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย (2) การตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัย ในประเทศ “ปลายทาง” และ (3) การส่งเสริมการศึกษาและการทำงานอย่างถูกกฎหมาย ในประเทศ “กลางทาง”

2. เรื่องต่อไปในการประชุม คือการประชุมระดับสูง เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานท่าทีกลุ่มประเทศ G77 ซึ่งที่ผ่านมาได้แสดงบทบาทนำ ในการแก้ไขปัญหา ได้มีการผลักดันประเด็นนี้ ให้มีการพูดคุยในเวที ASEAN ได้สำเร็จ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประชาชนอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น การรณรงค์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศ และสนับสนุนการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล

3. เรื่องต่อไปคือการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 71 ซึ่งในเวทีนี้ เป็นอีกเวทีระดับโลก ที่ให้ความสำคัญความสนใจเกี่ยวกับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” มีผู้นำ ประมุขประเทศเข้าร่วมการประชุมกว่า 190 คน ในการนี้ เป็นโอกาสของผมในฐานะผู้นำประเทศ ก็จะได้น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันของมนุษยชาติ ที่ผ่านมาในการประชุมกลุ่มประเทศ G77 ซึ่งได้มีเกือบ 20 ประเทศแล้วที่แสดงความสนใจอย่างเปิดเผย และขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ ในหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยขอเข้ามาศึกษาแนวทางการในการดำเนินงานใน “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ทั้ง 6 แห่ง

4. การประชุมต่อไปคือการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศ G77 ซึ่งไทยในฐานะประธานกลุ่มในปีนี้ ได้เสนอให้มีวาระการอภิปรายในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา SDG 2030 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยในครั้งนี้ นอกจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว ยังจะพูดคุยถึงการทดลองปฏิบัติจริง เพื่อนำไปสู่ผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับผลการประชุม จะได้นำมาเล่าให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้รับทราบ รับรู้ และทำความเข้าใจให้เกิดความร่วมมือภายหลังจากการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อไทยเราจะได้ปรับตัวในทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่สำคัญ คืออยากให้พี่น้องประชาชนได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองทุกวัน หรือการเรียนใน กศน. อีกทั้งการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเอกสาร หนังสือ แหล่งความรู้ที่เป็นสากลส่วนใหญ่บันทึกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลอยู่แล้ว ประชาชนของเราจะได้มีความทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

สุดท้ายนี้ จากการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาล ครบรอบ 2 ปี ประชาชนได้รับรู้ รับทราบแล้วว่าตลอดระยะเวลาในการบริหารราชการ “848 วัน” ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 16 กันยายน 2559 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาล และ คสช.ให้ความสำคัญอย่างมากในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 2030) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เพื่อเป็น “เข็มทิศนำทาง” ให้ประเทศสู่ความสำเร็จ สู่ความ” มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ทั้งนี้เพื่อลูกหลานไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการนี้ เนื่องใน “วันเยาวชนแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ได้กำหนดคำขวัญในวันสำคัญนี้ว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” (Participation, Development and Peace) ตามคำขวัญปีเยาวชนสากล โดยหวังให้เยาวชนไทยได้ตระหนัก เรียนรู้ถึงความสำคัญของตนเองที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตและจะสามารถช่วยสร้างเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและต่อโลกอย่างมีความรับผิดชอบ ให้สมกับที่รัฐบาลได้ทุ่มเทในทุกมิติ ทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” ของประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนในวันนี้ จะเป็นผู้นำพาประเทศสู่จุดหมายของเรา ในวันข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง