รัฐบาลสั่งให้ ก.เกษตรฯ บูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำท่วม

ภัยพิบัติ
1 ต.ค. 59
14:23
301
Logo Thai PBS
รัฐบาลสั่งให้ ก.เกษตรฯ บูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำท่วม
รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม มอบ ก.เกษตรฯ บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ผันน้ำออกจากเขตวิกฤติ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน พร้อมตั้งทีมลงพื้นที่ชี้แจงแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน

วันนี้ (1 ต.ค.2559) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ ซึ่งมีหลายจังหวัดที่น้ำท่วมขังในย่านชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจว่า รัฐบาลประสงค์จะให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่และให้ท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล

“รัฐบาลจำเป็นต้องผันน้ำหรือระบายน้ำเข้าไปในบางพื้นที่ โดยสร้างคันกั้นน้ำ บังคับไม่ให้น้ำไหลอย่างสะเปะสะปะ ซึ่งหน่วยงานชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ของ กษ.ที่อยู่ในจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะผันน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมอย่างไรและจะผันน้ำไปไว้ที่ใด เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของประชาชน หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด โดย อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเป็นผู้สำรวจและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานของ กษ. เพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวในเดือน ต.ค. หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลหน้า”

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้จะดำเนินการทันที โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเฉพาะภัยธรรมชาติ จะต้องวางแผนและทำงานอย่างเป็นระบบ ต้องกำหนดให้มีหน่วยงานหลัก และบูรณาการส่วนที่เกี่ยวข้องลงไปจัดการกับปัญหาในพื้นที่ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา เมื่อมีการตกลงกันแล้วว่าจะผันน้ำเข้าพื้นที่ใด ขอให้จังหวัดจัดตั้งทีมออกไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่าผู้ที่ต้องเสียสละที่ดินของตนให้เป็นพื้นที่รับน้ำนั้น จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางราชการอย่างไร เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีในการแก้ไขปัญหา หากจังหวัดติดขัดในเรื่องการประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ ให้รีบแจ้งไปยัง มท. เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาในระดับกระทรวงโดยด่วน”

ในระยะต่อไป กษ.จะเร่งสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว หรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่ค้าขายได้ดีกว่า เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งเกษตรกรจะประหยัดต้นทุน ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ และมีตลาดรองรับผลผลิตอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง