"โตโยต้า โซลูน่า" รถยนต์พระที่นั่งรัชกาลที่ 9

เศรษฐกิจ
20 ต.ค. 59
21:36
2,776
Logo Thai PBS
"โตโยต้า โซลูน่า" รถยนต์พระที่นั่งรัชกาลที่ 9
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีข่าวว่าบริษัทโตโยต้าจะปิดโรงงานและปลดพนักงานหลายพันคน เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชดำรัสสั่งซื้อรถยนต์โตโยต้า โซลูน่า เพื่อให้คนไทยมีงานทำ พร้อมพระราชทานคำแนะนำให้โตโยต้านำรายได้ไปสร้างโรงสีข้าว

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อโตโยต้า โซลูน่า โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ประทับด้านหน้า และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประทับด้านหลัง เป็นภาพที่หลายคนคุ้นตาและอาจมีข้อสงสัยว่าทำไมพระมหากษัตริย์ไทยทรงขับรถยนต์คันเล็ก ทั้งที่มีรถคันใหญ่หลายยี่ห้อ

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เล่าถึงที่มาว่าเมื่อปี 2529 กรุงเทพมหานครเกิดฝนตกหนัก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล่าว่าจะขับรถไปดูน้ำท่วม 1 เมตรที่ถนนเจริญนคร แต่เจ้าหน้าที่กรมวังห้ามไว้ จึงมีพระราชดำริว่าหากโตโยต้าสามารถสร้างรถยนต์ที่วิ่งได้ในถนนที่น้ำท่วมสูงจะเป็นประโยชน์

ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงมองเห็นปัญหา จึงได้พระราชทานคำแนะนำ โดยในปี 2538 บริษัทได้สนองพระราชดำริผลิตรถยนต์โตโยต้า โซลูน่า โดยนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นสูงและยกท่ออากาศติดกับฝากระโปรงหน้า สามารถวิ่งบนถนนที่มีน้ำท่วมได้สูง 30 เซ็นติเมตรและหากขับช้าๆจะวิ่งได้แม้น้ำท่วมสูงถึง 50 เซ็นติเมตร ซึ่งบริษัทได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถรุ่นนี้

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องลอยตัวค่าเงินบาท ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ รวมไปถึงบริษัทโตโยต้าที่ยอดขายลดลงร้อยละ 70 มีข่าวจากกรุงโตเกียวว่าบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย จะปลดคนงาน 5,500 คน เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสสั่งซื้อรถยนต์โตโยต้า โซลูน่า 1 คันและรับสั่งว่าไม่ต้องรีบทำ เพื่อให้คนไทยมีงานทำ

บริษัทโตโยต้าได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถยนต์โตโยต้ารุ่นดังกล่าวและผลิตออกจำหน่ายเป็นรุ่นลิมิเต็ด จำนวน 600 คัน ซึ่งขายหมดภายใน 1 เดือน ปัจจุบันยังได้เก็บรักษารถยนต์รุ่นนี้ไว้ 1 คันที่บริษัทโตโยต้าในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ สำหรับพระราชทรัพย์ที่ทรงจ่ายค่ารถยนต์จำนวน 600,000 บาท มีพระราชดำริให้บริษัทนำมาสร้างโรงสีข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยไม่แสวงผลกำไร

บริษัท ข้าวรัชมงคล จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 โดยทรงถือหุ้นร้อยละ 12 เพื่อช่วยชาวนาให้มีที่เก็บข้าวในยุ้งฉางและขายข้าวได้ในราคาสูง โดยรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงในราคาสูงกว่าราคาตลาดร้อยละ 10 แต่เมื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ขายในราคาถูกกว่าตลาดร้อยละ 20

ตลอดเวลา 7 ปี โรงสีข้าวรัชมงคลขาดทุนมาโดยตลอดและมาพลิกฟื้นมีกำไรในปีที่ 10 ต่อมาทางบริษัทกราบบังคมทูลรายงานสถานะทางการเงิน แต่ได้มีพระราชดำรัสว่า "ขาดทุนคือกำไร" ซึ่งมีความหมายถึงโรงสีข้าวตั้งมาแม้ขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่สิ่งที่ได้กำไรคือเกษตรกรที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับรายได้จากการดำเนินกิจการโรงสีข้าวได้นำไปช่วยเหลือเกษตรกรในการทำลานตากข้าว ยุ้งฉางเก็บข้าว รถเกลี่ยข้าว รวมไปถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าว นอกจากนี้โรงสีข้าวรัชมงคลยังเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง