ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด 163 ชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์แห่งลุ่มน้ำโขง

สิ่งแวดล้อม
19 ธ.ค. 59
21:53
2,134
Logo Thai PBS
เปิด 163 ชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์แห่งลุ่มน้ำโขง
พบงูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน ตุ๊กแกรูปร่างหน้าตาคล้ายมังกร และกะท่างหรือจิ้งจกน้ำ ซึ่งมีจุดเด่นคือผิวหนังที่นูนเป็นปุ่มเรียงยาว เหล่านี้คือ 1 ใน 3 สัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ในบรรดา 163 ชนิดพันธุ์ที่พบในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง

 วันนี้ (19ธ.ค.2559) กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้เปิดเผยรายงาน “สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง” ฉบับล่าสุด เผยให้เห็น การค้นพบอันน่าตื่นเต้นของทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำงานวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง


โดยสามารถแบ่งสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ออกได้เป็น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 9 ชนิดพันธุ์ ปลา 11 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิดพันธุ์ พืช 126 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 3 ชนิดพันธุ์ โดยพื้นที่ที่ค้นพบได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย การสำรวจซึ่งดำเนินการโดย WWFเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง มีจำนวนมากถึง 2,409 ชนิดพันธุ์

Jimmy Borah ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของกองทุนสัตว์ป่าโลก ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า “พื้นที่ลุ่มน้ำโขง เปรียบเสมือนสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์จากทั่วโลก ให้เข้ามาสำรวจและศึกษาถึง ความหลากหลายทางชีวภาพอันน่ามหัศจรรย์ในพื้นที่นักวิทยาศาสตร์เองก็เป็นเหมือนวีรบุรุษผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับเวลาที่เหลือน้อยลง และเพื่อช่วยอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านี้”

 

 

จุดเด่นที่น่าสนใจของรายงานสิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง มีดังนี้ งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Parafimbrios สามารถพบได้ตามพื้นที่หน้าผาที่สูงชันทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สามารถพบงูชนิดดังกล่าวได้เพียงพื้นที่เดียว แต่จากการค้นพบล่าสุด พบว่ามีงูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงินอยู่ในพื้นที่อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งสร้างความหวังให้กับนักวิทยาศาสตร์ถึงโอกาสการอยู่รอดที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมี “กิ้งก่าเขาหนามภูเก็ต” หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Acanthosaura phuketensis มีจุดเด่นคือแผงหนามยาวจากหัวถึงกลางสันหลัง สามารถพบได้ในป่าของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันจำนวนมีจำนวนลดลง โดยมี สาเหตุจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

หรือแม้แต่ " อึ่งขนาดเล็ก" ซึ่งมีขนาดลำตัวยาวเพียง 3 เซนติเมตร หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Leptolalax isos สามารถพบได้ในประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม แต่จากสถานการณ์การทำป่าไม้การขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการก่อสร้างโครงการพลังงานน้ำขนาดใหญ่ ทำให้จำนวนของอึ่งชนิดพันธุ์ดังกล่าวมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

 

“ กะท่าง” หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tylototriton anguliceps มีลักษณะเด่น คือ ผิวหนังสีส้มสลับดำที่นูนขึ้นมาเป็นทางยาว โดยสามารถพบได้ในจังหวัดเชียงราย ผิวหนังส่วนที่นูนขึ้นมานี้มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสารกำจัดศัตรูพืช และปัจจุบันกะท่างกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยที่ถูกทำลายลง

ตุ๊กแก หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Gekko bonkowskii มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหางจะเป็นปล้องสีฟ้าอ่อนสลับปล้องสีดำ สามารถพมีลักษณะเด่นคือ ส่วนหางจะเป็นปล้องสีฟ้าอ่อนสลับปล้องสีดำ สามารถพบได้ตามเทือกเขาที่ห่างไกลในประเทศลาว


นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งศึกษาและสำรวจหินย้อยภายในถ้ำเป็นผู้ค้นพบตุ๊กแกชนิดพันธุ์ดังกล่าว การค้นพบครั้งนี้ เชื่อกันว่าอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่มากขึ้นถึงวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานในบริเวณเทือกเขาอันนัม

 

ส่วนพืช คือ “กล้วยศรีน่าน” หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Musa nanensis เป็นกล้วยพันธุ์หายาก สามารถพบได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่จากปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่มากขึ้นส่งผลให้กล้วยศรีน่านอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


ปัจจุบัน ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากกระแสการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมือง การสร้างถนน ไปจนถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รวมไปถึงปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังคุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่หลายหมื่นหลายพันให้อาจต้องสูญหายไปก่อนจะได้รับการค้นพบ

“นักสะสมสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่หายาก ยินยอมจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาท เพื่อให้ได้ครอบครองสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้


ตลาดใหญ่ที่สำคัญคือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศพม่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและปรับการทำงานเพื่อปิดตลาดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดไป รวมไปถึงปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงเสือและหมีที่คอยป้อนสัตว์ให้กับตลาดค้าสัตว์ป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง