2016 ปีที่วงการหนังเกาหลีตีแผ่นักการเมืองฉ้อฉล

Logo Thai PBS
2016 ปีที่วงการหนังเกาหลีตีแผ่นักการเมืองฉ้อฉล
สังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างในเกาหลีใต้ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้ค่อนข้างเสรี ส่วนในวงการหนังมีการผลิตผลงานที่ตีแผ่การทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลและความไม่โปร่งใสของนักการเมืองอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปีเช่นกัน

Master ผลงานการแสดงล่าสุดของ ลีบยองฮอน ซูเปอร์สตาร์ระดับฮอลลีวูดของแดนโสม รับบทเป็นเจ้าของบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ ผู้ร่ำรวยจากการติดสินบนนักการเมือง กลายเป็นหนังยอดฮิตในเกาหลีใต้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำยอดจำหน่ายตั๋วในวันเปิดตัวไปถึง 390,000 ใบ ทำลายสถิติหนังเกาหลีใต้ที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดประจำเดือนธันวาคม

ปลายปีก่อน ลีบยองฮอน เพิ่งฝากฝีมือในหนังตีแผ่ความฉ้อฉลของรัฐบาลในเรื่อง The Inside Men สวมบทเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย ที่ถูกเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ตนไว้ใจหักหลังด้วยการตัดมือทิ้ง เพราะไปรู้ความลับเรื่องเงินสินบนของนักการเมืองที่สำนักพิมพ์หนุนหลัง เขาจึงแก้แค้นด้วยการร่วมมือกับอัยการหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน หวังเปิดโปงการคอรัปชั่นครั้งนี้ การตีแผ่ความไม่โปร่งใสในแวดวงการเมืองอย่างเฉียบคม ทำให้ภาพยนตร์กวาดรางวัลในเกาหลีใต้มาแล้วมากมาย

วิกฤตศรัทธาของชาวโสมขาวต่อปัญหาคอรัปชั่นในรัฐบาลเกาหลีใต้ ถูกจุดชนวนมาตั้งแต่เหตุเรือสำราญเซวอลอับปางเมื่อปี 2014 จนถึงการเปิดโปงการคอรัปชั่นของประธานาธิบดี ปาร์คกึนเฮ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในแวดวงภาพยนตร์เกาหลี หันมาสร้างหนังวิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาเหล่านั้นยังพบได้ในหนังแอ็คชั่นอย่าง Train to Busan ที่เล่าถึงการคุกคามของซอมบี้ และ The Tunnel ชะตากรรมของชายที่ติดอยู่ในซากอุโมงค์ถล่ม ทั้งสองเรื่องสื่อถึงการเอาตัวรอดของประชาชน ผู้หมดหวังจากการพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐอันไร้ประสิทธิพภาพ ส่วนหนังเรื่อง Pandora ที่ทำเงินกว่า 700 ล้านบาท ก็จงใจโจมตีการทำงานที่หละหลวมของประธานาธิบดี ระหว่างที่ประเทศกำลังรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว

หนังการเมืองที่ผู้ชมแดนโสมกำลังจับตาที่สุดในขณะนี้คือ The King หนังตลกล้อการเมืองเกี่ยวกับอัยการผู้ฉ้อฉล โดยตัวอย่างหนังยังแสดงภาพนักการเมืองร่วมพิธีกรรมของคนทรงเจ้า นับเป็นการล้อเลียนปาร์คกึนเฮประธานาธิบดีเกาหลีใต้โดยตรง หลังจากเธอถูกสื่อเปิดโปงเรื่องความสัมพันธ์กับซอยซูนซีล ทายาทผู้นำลัทธิไสยศาสตร์

คิมซีมู ประธานสมาคมภาพยนตร์ศึกษาของเกาหลีใต้ กล่าวว่า ภาพยนตร์คือศิลปะแห่งประชาธิปไตย ผู้สร้างหนังไม่อาจเพิกเฉยต่อทัศนคติทางการเมืองของคนในสังคม ส่วนพระเอก ลีบยองฮอน ย้ำว่าแนวหนังที่ได้รับความนิยม จะเปลี่ยนไปตามสภาพของสังคมในช่วงนั้นๆ การที่ทุกวันนี้หนังอาชญากรรมได้รับความนิยมอย่างสูง บ่งบอกถึงสภาพสังคมของแดนโสมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ปีนี้สื่อทั่วโลกให้ความสำคัญกับข่าวการคอรัปชั่นในเกาหลีใต้อย่างสูง แต่การจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันเมื่อปีก่อน เกาหลีใต้มีความโปร่งใสอยู่ที่อันดับ 38 ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 80

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง