ข่าวเด่น 2559 : นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ปิดคดี "เสือโคร่ง" วัดป่าหลวงตาบัวฯ

31 ธ.ค. 59
17:51
1,827
Logo Thai PBS
ข่าวเด่น 2559 : นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ปิดคดี "เสือโคร่ง" วัดป่าหลวงตาบัวฯ
ซากลูกเสือโคร่งแช่แข็ง 40 ตัว ถูกพบในถังแช่อาหารของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงที่วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2559

แต่ซากลูกเสือโคร่งเหล่านั้นยังไม่สะเทือนใจและตอกย้ำถึงความลับที่ถูกปกปิดไว้จากวัดแห่งนี้ ที่สังคมรับรู้เพียงแค่เป็นวัดที่มีพระเลี้ยงเสือให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและถ่ายรูปกับเสือโคร่งที่นอนเชื่องราวกับแมวยักษ์

"ลูกกรอกเสือ" ที่ถูกดองในโหล ถูกติดป้ายระบุว่ามันลืมตามาดูโลกได้เพียง 1 วัน ด้วยน้ำหนักเพียง 700 กรัม พร้อมชิ้นส่วนอวัยวะเสือโคร่งที่ยังมีสายรกติดอยู่กับตัวอีกหลายโหล ดวงตากลมโตของมัน และซากสัตว์ป่าหายาก ทั้งหมีขอสตัฟท์ เขากวาง

ทั้งหมดนี้ คือหลักฐานสำคัญที่ "ปฏิบัติการทวงคืนเสือโคร่งของกลาง" ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ทำให้สังคมตื่นตะลึงกับความจริง

การไขปริศนาซากลูกเสือแช่แข็งและลูกกรอกเสือ รวมทั้งเสือมีชีวิตอีก 147 ตัว แกะรอยหาความเชื่อมโยงและใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมที่วัดเสือแห่งนี้จึงเริ่มต้นขึ้น

ไขปมจาก "ดีเอ็นเอ" เสือโคร่ง

"เราอาศัยกระบวนการของนิติวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ป่าเข้ามาทำงานอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก เพราะเราต้องการรู้ว่าเสือโคร่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อะไรบ้าง ทำไมเพียงแค่ 10 ปี วัดจึงขยายพันธุ์เสือจาก 7 ตัวเป็น 147 ตัว หรือลูกกรอกเสือแช่แข็งมันคืออะไร พวกมันมีความสัมพันธุ์ทางสายเลือดกันหรือไม่" นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกถึงการทำงาน

เขายอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบที่ต้องการ แต่กระนั้นเพียงแค่ช่วง 6 เดือน ทีมนิติวิทยาศาสตร์กลับทำงานได้เกินความคาดหมาย

 


นี่เป็นตารางคำตอบที่ถูกทำขึ้นแบบดูง่ายที่สุดเพื่อให้การอธิบายต่อเจ้าหน้าตำรวจชุดดำเนินคดีเข้าใจถึงกลไกที่ซับซ้อน

"เดิมวัดมีเสือที่เป็นพ่อแม่พันธุ์เพียง 7 ตัวเท่านั้น ตัวผู้ คือ สายฟ้า เหิรฟ้า พายุ และตัวเมียคือ สายรุ้ง แสงตะวัน จอมนภา และน่านฟ้า แต่ผสมเป็นรุ่นที่ 2 อีก 7 ตัว รุ่นที่ 3 อีก 17 ตัว และมีลูกอีก 114 ตัวที่พบว่าชุดนี้มีพ่อและแม่จากเสือทั้ง 3 รุ่น แต่น่าแปลกใจว่าผลดีเอ็นเอ พบมีเสืออยู่ถึง 3 สายพันธุ์คือ ไซบีเรีย มลายู และอินโดไชนีส โดยเฉพาะพันธุ์ไซบีเรีย และมลายู ที่มีร้อยละ 80-90 ส่วนที่เหลือเป็นสายพันธุ์อินโดไชนีส ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยเช่นกันว่ามาได้อย่างไร เพราะตามฐานข้อมูลเดิมของวัดที่แจ้งกรมอุทยานฯ ไว้มีแค่ 2 สายพันธุ์เท่านั้น แม้ว่าทางวัดจะอ้างว่าสายพันธุ์อินโดไชนีสมาจากเสือโคร่งที่ได้จากพ่อแม่ที่ตายไป 4 ตัวนั้น ทางกรมอุทยานฯ จะใช้หลักฐานจากวันเดือนปีเกิดของเสือทุกตัวที่ทางวัดมีการทำรายชื่อไว้มายืนยันได้" นายอดิศร ระบุ

 

 

6 คดีเชื่อม "หลวงตาจันทร์"

รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า ในจำนวนนี้ยังพบว่า 11 ตัวมีพ่อ แต่ไม่มีแม่ ส่วนอีก 10 ตัวมีแม่ แต่ไม่มีพ่อ และอีก 9 ตัวไม่มีทั้งพ่อและแม่จากเสือชุดนี้ เช่นเดียวกับลูกกรอกอีก 6 ตัว สรุปเสือทั้ง 3 กลุ่มหรือประมาณ 36 ตัว ที่พบพิรุธทางดีเอ็นเอมาเขียนคำอธิบายให้พนักงานสอบสวนเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าผิดเพราะอะไร เช่นผิดเพราะพ่อไม่อยู่ ถ้าพ่อไม่อยู่แล้วไปไหน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า 1.พ่ออาจจะเคยอยู่ที่นี่มาก่อนแล้วถูกนำออกไป หรือ 2.พ่ออยู่แต่ตายไปก่อนที่เราจะเข้าไปตรวจค้น ถ้าเป็นลักษณะนี้มีความผิดแน่นอน แสดงว่าวัดมีความผิดเอาเสือออกไปหรือสัตว์ตายแล้วไม่แจ้ง และยิ่งเสือตัวที่ไม่มีพ่อมีแม่นี่ผิดอยู่แล้ว ไม่ต้องมีคำอธิบาย

 

นายอดิศรระบุว่า ข้อมูลของเสือแม่พันธุ์ 3 ตัวที่หายไปจากวัดนั้น กรมอุทยานฯ จะต้องตรวจสอบจากภาพถ่ายโดยให้ผู้เชี่ยวชาญแกะรอยจากลายเสือเพื่อบ่งชี้ถึงสายพันธุ์ได้ นอกจากนี้ต้องตรวจสอบข้อมูลจากการรักษาเสือทั้ง 3 ตัวที่ทางวัดให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลดูแลว่ามีการเก็บประวัติการรักษาไว้หรือไม่ 

 

สำหรับคดีของวัดเสือกับกรมอุทยานฯ โดยสรุปมีอยู่ 6 คดีซึ่งไม่รวมคดีเกี่ยวกับที่ดิน โดยจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดหลวงตาบัวฯ เป็นจำเลยที่ 1 ทุกคดี พร้อมทั้งกรรมการมูลนิธิฯ กรรมการวัด และสัตวแพทย์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงบริษัทของกลุ่มบุคคลในมูลนิธิด้วย ในฐานความผิดมาตรา 19 และมาตรา 20 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในฐานความผิดครอบครองและค้าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในทางคดีแล้ววัดเสือแห่งนี้อาจจะเป็นแค่แหล่งค้าเสือรายใหญ่ในประเทศ ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแหล่งค้าเสือข้ามชาตินั้นเรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ

ทั้งหมดนี้ กรมอุทยานฯ มั่นใจว่าจะใช้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในคดีอาชญากรรมเสือที่วัดป่าแห่งนี้ภายในต้นปี 2560 

 

 

 

 

จันทร์จิรา พงษ์ราย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง