แอร์พอร์ตลิงก์ แจงละเอียดยิบ ปม "สามารถ" โพสต์น็อตยึดรางหลุด

สังคม
17 ม.ค. 60
12:24
293
Logo Thai PBS
แอร์พอร์ตลิงก์ แจงละเอียดยิบ ปม "สามารถ" โพสต์น็อตยึดรางหลุด
แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ชี้แจงการตรวจสอบการซ่อมบำรุงเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร หลังอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความระบุว่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์มีปัญหาการซ่อมบำรุง จนส่งผลกระทบต่อการเดินรถ ชี้แจงการตรวจสอบการซ่อมบำรุงเพื่อความปลอดภัย

กรณีที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า "แอร์พอร์ตลิงค์ยังน่าห่วง" เนื่องจากการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ บริเวณโค้งลาดกระบังมีการชะลอความเร็วจาก 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 30 และ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยให้เหตุผลภายในองค์กรว่า แผ่นเหล็กประกับรางหรือเหล็กรองรับรางเคลื่อนตัว เนื่องจากน็อตยึดแผ่นเหล็กหลุด เพราะตัวพุกที่ใช้ยึดไม่ยึดติดกับคอนกรีต หากไม่ลดความเร็วอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ นอกจากนี้ยังระบุว่า มีผู้บริหารบางคนต้องการว่าจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่งให้ซ่อมบำรุงรักษาโดยไม่มีการประมูล ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชน และระบุว่า เอกชนรายนั้นไม่มีประสบการณ์การซ่อมบำรุงรักษางาน จึงต้องการให้ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ เข้มงวดในการซ่อมบำรุงรักษา เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานทุกคน

วันนี้ (17 ม.ค.2560) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ส่งหนังสือชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า การโพสต์ข้อความของอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ โดยชี้แจงว่ารูปภาพที่ได้ปรากฏในเฟซบุ๊กของนายสามารถ เป็นรูปภาพของอุปกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่โรงล้างรถไฟฟ้าภายในศูนย์ซ่อมบำรุง และอยู่ในแผนงานซ่อมบำรุงตามวาระแล้ว ขณะที่ตามปกติบริษัทจะซ่อมบำรุงรักษาหรือที่เรียกว่าซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างสม่ำเสมอ จะมีการตรวจสอบและประเมินด้วยสายตาทุก 4 เดือน และทำการตรวจสอบซ่อมบำรุงใหญ่

ส่วนชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางที่ระบุว่าจะต้องมีการเปลี่ยนทุก 10 ปี บริษัทได้ติดตั้งชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางมาเป็นระยะเวลา 9 ปี พร้อมทั้งแก้ไขชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางบริเวณทางโค้งลาดกระบังไปแล้ว 160 จุด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 รวมถึงได้เสริมกำลังเจ้าหน้าที่ในวิศวกรรมระบบรางตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เพื่อเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตาเป็นทุกๆ 1 เดือน จากการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบทำให้ตรวจพบว่า จะต้องมีการซ่อมบำรุงแก้ไข จำนวน 159 จุด ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนการซ่อมบำรุงรักษาตามวาระแล้ว

ต่อมาเดือนธันวาคมได้ทำการตรวจสอบและประเมินด้วยสายตา พบว่ามีจุดที่ต้องดำเนินการซ่อมบำรุงแก้ไขทันที 50 จุด บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยคณะประเมินความเสี่ยง ได้ทำการประเมินความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีบริษัทเอกชนที่ซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางยืนยันว่า เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงรางให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง