จับตาประชุม มส.เสนอสึก "ธัมมชโย"พรุ่งนี้

สังคม
9 มี.ค. 60
11:29
2,659
Logo Thai PBS
จับตาประชุม มส.เสนอสึก "ธัมมชโย"พรุ่งนี้
วิษณุ เครืองาม แย้มการประชุมมหาเถรสมาคม วันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) คาดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเสนอขั้น ตอนหลังธัมมชโย ถูกถอดสมณศักดิ์ และการใช้กฎหมายสงฆ์ให้พระภิกษุสละสมณเพศ

วันนี้(9มี.ค.2560) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมมหาเถรสมา คม หรือ มส.วันพรุ่งนี้( 10 มี.ค.)  เป็นการประชุมประจำเดือนของ มส.ซึ่งพันตำรวจโท พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ.ในฐานะเลขาธิการ มส.จะต้องเข้าประชุมด้วย โดยจะเป็นตัวแทนของรัฐบาล รายงานถึงการดำเนินการกับพระธัมมชโยในช่วงที่ผ่านมา

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินการไปพร้อมกันทั้ง 3 มาตรการ คือ การบังคับใช้กฎหมาย กำหนดให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม และมาตรการทางปกครอง คือ การถอดสมณศักดิ์ และขอให้พระซึ่งปกครองกันเองในฐานะพระสังฆาธิการทั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ดำเนินการ เช่นการสั่งห้ามชุมนุม แต่กลับไม่เป็นผล

 

ขณะที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายกลับไม่แสดงบทบาทใดๆ ล่าสุดได้มีการใช้มาตรการทางพระธรรมวินัย โดยผู้อำนวยการ พศ.ได้ร้องไปยังพระผู้ใหญ่ เพื่อให้ดำเนินการกับพระธัมมชโย ตามกฎหมายสงฆ์ที่มีอยู่ ทั้งการลงนิคหกรรม และกฎ มส.ฉบับที่ 21 ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ โดยขั้นตอนจะต้องเริ่มจากเจ้าอาวาสวัด และขึ้นไปตามลำดับ

นายวิษณุ ระบุว่า แต่เมื่อมาตรการทั้งหมดนี้ อาจยังไม่เป็นผล การประชุม มส.วันที่ 10 มี.ค.นี้ อาจมีการกราบนมัสการ มส.ว่า ยังมีมาตรการอื่นที่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่ ส่วน มส.จะเห็นอย่างไร รัฐบาลไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะ เป็นเรื่องทางสงฆ์ที่จะดำเนินการ

ขณะที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล พศ.ระบุว่า จะร่วมประชุมกับ มส.ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ พร้อมด้วยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ผอ.พศ.พร้อมชี้แจงว่า การถอดสมณศักดิ์ พระธัมมชโย กับการหลุดจากสมณเพศ หรือ การสึก เป็นคนละเรื่องกัน การสึกจะเกิดได้จาก การลาสิกขาบท และ การกระทำผิดพระธรรมวินัยร้ายแรง ซึ่งทางสงฆ์ต้องมีขั้นตอนทั้งการพิจารณาและมีมติออกมา ไม่ใช่ อยู่ดีๆ ฆราวาสจะไปสึกพระได้

 เปิดข้อบัญญัติพระภิกษุสละสมณเพศ 

 

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ตราขึ้นเมื่อปี 2538 บัญญัติถึงเรื่องการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ข้อที่ 3 กำหนดว่า พระภิกษุที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเรื่องเดียวกัน หรือหลายเรื่องเป็นอาจิณ ให้เจ้าอาวาสตักเตือน หากไม่ได้ผล ให้ส่งเรื่องรายงานโดยลําดับ จนถึงเจ้าคณะอําเภอเจ้าสังกัด เพื่อวินิจฉัยให้สละสมณเพศต่อไป หรือหากพระไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองวัดหรือพระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้นวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้


ส่วนในข้อที่ 4 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องร้องว่าพระภิกษุรูปใดกระทําความผิดอันเป็น "ครุกาบัติ" เมื่อพิจารณาว่าด้วยการลงนิคหกรรมแล้ว มีคําสั่งประทับฟ้องเพื่อดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป เมื่อมีการรายงานพฤติกรรมต่อมหาเถรสมาคมแล้ว มหาเถรสมาคม จะพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น หากเห็นว่าพระภิกษุผู้เป็นจําเลย ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ และหากพิจารณาแล้วว่า การให้ดํารงเพศบรรพชิตต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์


มหาเถรสมาคมมีอํานาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้น สละสมณเพศได้ โดยข้อวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม เป็นอันสิ้นสุด จากนั้นให้เจ้าอาวาสซึ่งพระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือพํานักอาศัย หรือพระภิกษุผู้ดํารง ตําแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งผลคําวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นทราบ และ จัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ แต่ในกรณีที่ไม่อาจพบพระภิกษุรูปนั้น หรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ยอมรับทราบคําวินิจฉัย เมื่อปิดประกาศคําวินิจฉัยไว้ ณ ที่พํานักอาศัยของพระภิกษุรูปนั้น ถือว่า พระภิกษุรูปนั้นทราบคําวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว และต้องสึกใน 3 วันนับตั้งแต่ทราบคำวินิจฉัย หากยังไม่สึก ก็ให้พระภิกษุผู้มีหน้าที่ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง