ข้อดี-ข้อเสีย สอบครูผู้ช่วยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู

สังคม
28 มี.ค. 60
11:19
3,413
Logo Thai PBS
ข้อดี-ข้อเสีย สอบครูผู้ช่วยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู
เปิดข้อดี-ข้อเสีย สอบครูผู้ช่วยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู

ในแวดวงการศึกษา ยังคงเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันอย่างมากกับการแก้ไขหลักเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วยที่ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในบางสาขา ซึ่งเรื่องนี้ถึงกับทำให้มีการรวบรวมรายชื่อนักวิชาการ อาจารย์ เพื่อถอดถอนเจ้ากระทรวงศึกษาธิการออกจากตำแหน่งเลยทีเดียว

นอกจากครูอาจารย์ ที่ออกมาคัดค้านแล้ว ยังมีนิสิตบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าอาจส่งผลต่อการทอดถ่ายความรู้ให้กับนักเรียนได้ แม้จะมีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆก็ตาม เพราะการเรียนในสาขานี้จะผ่านการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครู และทักษะการสอนตั้งแต่มหาวิทยาลัย

แต่ในอีกมุมหนึ่ง แม้ไม่ได้เรียนในคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์มาโดยตรง แต่นิสิตคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนนี้ เห็นว่า หากมีใจรักในการสอนหนังสือก็สามารถเป็นครูได้ อีกทั้งการศึกษาในสาขาอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และทักษะการสอนนั้นเป็นเรื่องที่เรียนรู้หรือสั่งสมประสบการณ์กันได้ การสอบใบประกอบวิชาชีพครูสามารถสอบในภายหลังได้

แนวคิดปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่ให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สามารถสอบครูผู้ช่วยได้ แม้ว่าจะใช้แก้ปัญหาสถานศึกษา หรือหลักสูตรที่ขาดแคลนครู เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาต่างประเทศ เพื่อหวังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ยกระดับคะแนนทดสอบต่างๆ ให้สูงขึ้น โดยให้ผู้มีความรู้ด้านเฉพาะทาง มาปฏิบัติการสอน แต่นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่าอาจเกิดปัญหาในเชิงทัศนคติ ที่อาจกระทบต่อคุณภาพการสอนได้

รศ.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ นอกจากจะบ่งบอกถึงการผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการเข้าเป็นครูแล้ว ยังผ่านการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครู ตั้งแต่ในระดับสถาบันอุดมศึกษา

ด้าน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การนำเอาบุคคลจากสาขาวิชาชีพอื่นมาสอนหนังสือ ก็มีเปิดช่องให้อยู่แล้ว โดยเฉพาะครูในวิทยาลัยเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง และวิทยาลัยการอาชีพ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้คนที่จบเฉพาะด้านมาสอน โดยทางครุสภาก็เปิดช่องทางให้สามารถออกใบอนุญาตเป็นการชั่วคราวได้อยู่แล้ว

ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้เพราะทำให้เสียระบบการศึกษาด้านครุศาสตร์ในอนาคต ทั้งนี้ ทางบุคลากรด้านการศึกษา และบุคลากรด้านครุศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จึงนัดประชุมกันในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อเสาวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อนที่จะมีการลงนามเสนอคัดค้านต่อไป 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง