"แพทย์อายุรกรรม" จบใหม่ครองแชมป์ ภาระงานหนักสุด 80 ชม.ต่อสัปดาห์

สังคม
23 พ.ค. 60
10:12
9,314
Logo Thai PBS
"แพทย์อายุรกรรม" จบใหม่ครองแชมป์ ภาระงานหนักสุด 80 ชม.ต่อสัปดาห์
สถิติชี้ "แพทย์อายุรกรรม” ครองแชมป์ภาระงานหนักสุด จบใหม่ต้องทำงาน 80 ชม.ต่อสัปดาห์ พักผ่อนน้อย เสี่ยงติดเชื้อคนไข้ ชงเสนอเร่งแก้ระบบกำหนดห้ามทำงานเกิน 36 ชั่วโมง ด้านปลัด สธ.วางกรอบผลิต แพทย์-บุคลากรสาธารณสุขเพิ่ม พร้อมวาง 4 แนวทางเยียวยา

จากกรณีการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งกรณี นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ แพทย์ประจำโรงพยาบาลลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ป่วยระหว่างทำงานจนเสียชีวิตด้วยโรคปอดติดเชื้อ สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาในการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุข

วันนี้ (23 พ.ค.2560) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยเป็นหลักบวกกับผู้ป่วยมีจำนวนมาก ภาระงานที่หนัก สุขภาพทรุดโทรม โรงพยาบาลบางแห่ง แพทย์ต้องทำงานถึงสัปดาห์ละกว่า 80 ชั่วโมง แพทย์บางคนต้องอยู่เวรต่อเนื่องถึง 48 ชั่วโมง การอยู่เวรมากเกินไปทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียด ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการดูแลรักษาผู้ป่วย 

ข้อมูลของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ พบว่า ชั่วโมงการทำงานของแพทย์จบใหม่ที่ทำงานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 92.3 ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่แพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะอยู่เวรมากกว่ากลุ่มที่อยู่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โดยพบว่า แผนกอายุรกรรมมีภาระงานที่สูงที่สุดเนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากและเป็นโรคที่ซับซ้อน รองลงมาเป็นแผนกศัลยกรรม และสูติ-นารีเวชกรรม

 

 

 “แพทย์-บุคลากร” เสี่ยงติดเชื้อโรคจากคนไข้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากภาระงานและชั่วโมงการทำงานที่มากแล้ว แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคจากโรงพยาบาล คนไข้ ทั้งต้องตรวจโรค ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด การสัมผัส เช่น โรคติดต่อจากการดูแลคนไข้ที่มีโรคติดต่อ โรคร้ายแรง เช่น วัณโรค ไวรัสตับ เป็นต้น ที่ผ่านมาพบแพทย์และพยาบาลติดวัณโรคในระหว่างการทำงานจำนวนมาก 

ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่พยาบาลเจ็บป่วยจากการดูแลคนไข้ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยเด็กรายหนึ่งที่ป่วยไวรัสที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เด็กมีอากาศไอ จาม พยาบาลที่ดูแลใกล้ชิดได้รับละอองต่างๆ ทั้งที่รู้และป้องกันตัว สุดท้ายพยาบาลคนนั้นก็ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นอกจากนี้ คนไข้หน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก และหลั่งไหลเข้าโรงพยาบาล เพราะป้องกันไม่ได้เป็นผลที่ไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และการที่คนเริ่มป่วย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง การชะลอคนเริ่มป่วยที่ยังไม่มีอาการ เช่น เบาหวาน ความดัน ปล่อยให้อาการหนักขึ้น ที่สุดต้องเป็นคนไข้หลักของโรงพยาบาล

สธ.วางกรอบ 4 แนวทางแก้ปัญหางานล้นมือ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกอีกว่า  ปัญหาเรื่องบุคลากรเกี่ยวกับการรักษาไม่พอ ภาระงานที่เพิ่มหนักไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกหมักหมมากว่า 10 ปี และตอนนี้เริ่มรุนแรงขึ้น เพราะระบบไม่สมบูรณ์ แต่คนที่เกี่ยวข้องกลับบอกว่ามันสมบูรณ์ เรื่องนี้หากเรารู้ข้อบกพร่องแล้วหาทางแก้ไขเชื่อว่าย่อมมีทางออก  และกรรมการแพทยสภา เตรียมเสนอแพทยสภา ให้มหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข กำหนดเวลาการทำงานที่เหมาะสมชัดเจน ห้ามทำงานเกิน 36 ชั่วโมง หรือเกิน 24 ชั่วโมง แต่ก็เชื่อว่าในทางปฎิบัติไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอต่อคนไข้ที่มีจำนวนมาก

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์ขาดแคลนแพทย์ของ ไทยยังน่าเป็นห่วง สธ.เข้าใจถึงความยากลำบากในการทำงานของแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ล่าสุดได้เพิ่มการผลิตแพทย์โดยในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทเพิ่มจากปีละ 3,000 คน เป็นปีละ 3,200 คน คาดว่าใน 10 ปี ข้างหน้าจะมีแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,250 คน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต คือ 1.ให้ผู้บริหารร่วมหารือโรงพยาบาลจัดเวลาทำ งานให้เหมาะสมตามสภาพของโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยหรือปริมาณงาน 2.ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและผู้บริหารศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา ดูแลให้คำปรึกษาแพทย์จบใหม่ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว 3.เร่งรัดจัดทำระเบียบช่วยเหลือเบื้องต้นกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ และ 4.พัฒนาระบบฉุกเฉินให้มีแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินดูแลในห้องฉุกเฉิน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง