วันนี้ (3 ก.ค.2560) หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบทลงโทษต่อลูกจ้างและนายจ้างในมาตรา 101, มาตรา 102 และมาตรา 122 รุนแรงเกินไปทั้งค่าปรับ บทลงโทษ รวมถึงปัญหาความไม่เข้าใจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และการเรียกรับผลประโยชน์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เพื่อหามาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี วันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) ให้ออกมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกไป 120 วัน โดยมีผลย้อนไปถึงวันที่ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่กังวลว่าการเดินทางกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติ จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะเป็นการเดินทางกลับ เพื่อจัดเตรียมเอกสารให้เกิดความเรียบร้อยและถูกกฎหมาย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีเหตุและความจำเป็นที่ต้องจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ และขออย่าออกมาเคลื่อนไหว เพราะประเทศไทยถูกเพ่งเล็งเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นข้อตกลงของ 4 ชาติอาเซียน และที่ผ่านยังไม่มีการแก้ไขปัญหานี้ โดยจะแก้ปัญหาผลกระทบให้แล้วเสร็จใน 120 วัน เพื่อไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน
หลังการประชุมวิปรัฐบาล นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช.กล่าวว่า วิปรัฐบาลเห็นชอบนำ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เข้าสู่ที่ประชุมวิป สนช. เพื่อนำเข้าที่ประชุม สนช.เห็นชอบในสัปดาห์นี้ ส่วนข้อกังวลของภาคเอกชนต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาผ่านการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เบื้องต้น ตัวแทนกรมการจัดหางานได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ ที่มีหนังสือเดินทาง 1,300,000 คน ได้รับการผ่อนผันชั่วคราวหรือมีบัตรสีชมพู 1,300,000 คน ส่วนแรงงานผิดกฎหมายไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งกำชับห้ามตำรวจทุกหน่วยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เรียกรับผลประโยชน์จากนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด