“ชุดเหยี่ยวดง” ท่องโลกออนไลน์ล่าแก๊งค้าสัตว์ป่า

สังคม
7 ก.ย. 60
12:27
2,203
Logo Thai PBS
“ชุดเหยี่ยวดง” ท่องโลกออนไลน์ล่าแก๊งค้าสัตว์ป่า
กว่า 3 เดือน ที่ชุดปฎิบัติการ "เหยี่ยวดง" เปิดแผนล่านักค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ปฏิบัติภารกิจพิทักษ์สัตว์ป่า ตามนโยบายของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ด้วยมาตรการเชิงรุกในการปราบปรามผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

 

เล็บหมีควาย 16 ชิ้น เป็นของกลางที่ “ชุดเหยี่ยวดง” ล่อซื้อจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ “เย็น นม” ในราคา 700 บาท เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และเป็น 1 ใน 8 คดี จาก 33 คดีที่ชุดเหยี่ยวดง ปฎิบัติภารกิจสำเร็จ

เปิดโซเซียลล่าค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 3 เดือน กว่า 30 คดี

นายถิรเดช ปาลสุวรรณ หัวหน้าชุดปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า (ชุดเหยี่ยวดง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า การลักลอกค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผู้ค้าได้ปรับเปลี่ยนช่องทางการค้าโดยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ อย่าง “เฟซบุ๊ก” ในการโพสต์ภาพ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสัตว์ป่ากัน อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ในช่วง 3 เดือน พบการค้าสัตว์ป่า เช่น ชะนี นกเค้าแมว เหยี่ยว นกเงือก นางอาย กระรอกบิน กระรอกดำ นาก รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานอย่างงูเหลือม งูหลาม จำนวนมาก ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นและจากการติดตาม แกะรอย จนนำไปสู่การจับกุมผู้ค้า ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้ 33 คดี

ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้ได้กว่า 1,000 ตัว นอกจากนี้ยังยึดซากสัตว์ได้อีก 250 ซาก

 

กฎหมายยังไม่ครอบคลุม ผู้โพสต์ส่งผลผู้กระทำผิดเพิ่ม

นายถิรเดช บอกว่า ด้วยวิธีการซื้อขายสัตว์ป่าเปลี่ยนไป กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงปรับกลยุทธ์ในการปราบปราม โดยจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง” เพื่อแกะรอยกลุ่มผู้ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยมีภารกิจสำคัญในการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าทุกรูปแบบ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจจับ ยึด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558 ทั่วประเทศแต่ก็ยังมีความยากลำบากในการที่จะปรามปรามได้อย่างทั่วถึง

คนไทยบางกลุ่มโดยเฉพาะวัยรุ่นที่นิยมเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก เช่น ลิงลม กระรอกดำ เพราะเห็นว่าน่ารัก เห็นคนอื่นเลี้ยงก็อยากเลี้ยงบ้าง หายากแค่ไหน ก็ไปเสาะหามาเลี้ยง และโพสต์ภาพทางโซเชียลมีเดียอวดกันโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ค้าก็ยังใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ในการกระทำความผิด เนื่องจากการโพสต์ค้าขายสัตว์ป่าทางอินเทอร์เน็ต ยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับอย่างชัดเจน มีเพียง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท เท่านั้น กลุ่มผู้ค้าจึงมองว่าคุ้มที่จะเสี่ยง เจ้าหน้าที่จึงต้องสืบสวน รวบรวมหลักฐานอย่างรอบคอบก่อนจะล่อซื้อจับให้ได้แบบคาหนังคาเขา จึงจะดำเนินคดีได้

 

สร้างกลุ่มลับ หลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่แกะรอยจับกุม

นายนุวรรต ลีลาพตะ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา บอกว่า พฤติกรรมการลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มักจะใช้วิธีการตั้งกลุ่มลับที่เป็นกลุ่มปิด ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องได้รับการอนุญาต การโพสต์ขายสัตว์ป่าผู้ขายจะใช้นามแฝง ใช้รูปโปรไฟล์ที่ไม่แสดงตัวตน ภาพสัตว์ที่โพสต์ก็ไม่ได้แสดงถึงแหล่งที่มา ไม่มีรายละเอียดของสินค้า ระบุเพียงแค่ช่องทางการติดต่อ การเจรจาซื้อขายโอนเงินจะผ่านทางกล่องข้อความ และจะมีการนัดแนะส่งของผ่านมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ไปรษณีย์ รถทัวร์ หรือแม้กระทั่งรถไฟ โดยสัตว์ป่าที่พบมีการลักลอบซื้อมีทั้งสัตว์มักเป็นสัตว์ตัวเล็กขนส่งได้ง่าย แต่ก็ไม่น้อยเลยที่เกิดตายระหว่างเดินทาง

ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแส ส่งผลจับกุมเพิ่มขึ้น

นายนุวรรต บอกว่า ที่ผ่านมา มีประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสผู้ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือทางเพจเฟซบุ๊ก ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดงจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องทำการคัดเลือกเคสที่มีความสำคัญก่อน โดยแต่ละเคสต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะค้นหาข้อมูลเชิงลึกว่าเป็นใคร เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะใช้วิธีการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊ก เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดชุดสืบสวนปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการสืบค้นหาข้อมูลหลังได้รับเรื่องร้องเรียน จะมีการตรวจสอบก่อนว่าผู้โพสต์ ชื่อเฟชบุ๊กดังกล่าวเป็นผู้ค้าขายสัตว์จริงหรือไม่ ใครเป็นคน ขาย ใครเป็นคนล่า ใครครอบครอง สถานที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหน ต้องใช้เวลาในการสืบสวนประวัติย้อนหลัง เก็บรวบรวมหลักฐานของผู้โพสต์หลายเดือน จนมั่นใจว่ามีสัตว์ป่าผิดกฎหมายตามที่เสนอขายจริงจากการล่อซื้อ จึงดำเนินการขอหมายค้นและเข้าจับกุม

"เมื่อก่อนการจัดการกับอาชญากรรมสัตว์ป่ามีลักษณะเป็นการตั้งรับ ต้องรอให้มีผู้แจ้งข้อมูลก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบซึ่งอาจไม่ทันการ และอาจจะทำให้ผู้กระทำผิดไหวตัวทัน แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จะทำงานในเชิงรุก เข้าไปแฝงตัวเป็นกลุ่มเดียวกับเขา จนรู้ความเคลื่อนไหว และสามารถแกะรอย จับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างต่อเนื่อง" นายนุวรรต ระบุ


กังวลไทยเสี่ยงเป็นต้นทางลับลอบค้าสัตว์ป่า

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IUCN) กล่าวว่า การซื้อขายสัตว์ป่าผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย แต่เป็นช่องทางที่ถือว่าตรวจสอบข้อมูลได้ยากที่สุด ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ค้าหน้าใหม่เข้ามาใช้ช่องทางลักลอบค้าสัตว์ป่ามากขึ้น ทำให้ไทยเสี่ยงต่อการเป็นศูนย์กลางในการส่งออกและเป็นทางผ่านลำดับต้นๆ ของโลก

"บางคนไม่รู้ว่าสัตว์บางชนิด เช่น นาก ว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เห็นจากภาพ คลิปวีดีโอมองว่าเป็นสัตว์น่ารัก แสนรู้ ก็รู้สึกอยากเลี้ยงโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง" นายเพชร กล่าว

นายเพชร กล่าวว่า เฟซบุ๊กเป็นเหมือนช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย สามารถประชาสัมพันธ์ดึงดูดลูกค้าใหม่ให้เข้ามามากขึ้น แต่หากมองในอีกแง่ อาจเป็นข้อดีให้กับเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ได้เข้าใจว่าเทรนตอนนี้มันเป็นยังไง เจ้าหน้าที่เองก็สามารถติดตามตรวจตราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

 

เงินสะพัดกว่า 5 แสนล้าน ลักลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์

กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า ในแต่ละปีมีเงินสะพัดในธุรกิจลักลอบค้าสัตว์ป่า ไม่ต่ำกว่า 570,000 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 รองจากการค้าอาวุธ ยาเสพติด และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

ขณะที่ ข้อมูลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558 - เม.ย.2559 มีสัตว์ป่าถูกโพสต์ขาย จำนวน 711 ครั้ง แบ่งเป็น 105 ชนิด 1,356 ตัว

อย่างไรที่ผ่านมาไทยถูกมองว่าเป็นทางผ่านของเส้นทางค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และพยายามกวาดล้างขบวนการ แต่การค้าสัตว์ป่าผ่านทางออนไลน์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ตรวจจับได้ยาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง