เดินหน้า “หนองจิก” ดึงเอกชนแปรรูปอาหาร-สินค้าเกษตร ปิดช่องโหว่ “นิคมฮาลาล” เหลว

ภูมิภาค
12 ก.ย. 60
15:07
855
Logo Thai PBS
เดินหน้า “หนองจิก” ดึงเอกชนแปรรูปอาหาร-สินค้าเกษตร ปิดช่องโหว่ “นิคมฮาลาล” เหลว
ศอ.บต.มั่นใจพัฒนา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ไม่ซ้ำรอย “นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” เน้นเชื่อมโยงการตลาดครบวงจร เพิ่มมูลค่าสินค้า ดึงบริษัทเอกชนลงทุน

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พัฒนาพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ขณะที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่านโยบายดังกล่าวจะซ้ำรอย “นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ที่ต้องหยุดชะงักทั้งที่ลงทุนก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จและได้รับงบประมาณจากส่วนกลางไปแล้ว 600 ล้านบาท หรือไม่

ขาดความเชื่อมโยงตลาด-สถานการณ์รุนแรง ทำ “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล” หยุดชะงัก

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เล่าถึงความเป็นมาของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลว่า รัฐบาลทุกสมัยมีความพยายามในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน แต่ปัจจัยของสถานการณ์ความรุนแรงที่หนักกว่าปัจจุบัน ประกอบกับการขาดความเชื่อมโยงของตลาด ส่งผลเอกชนเกิดความกังวลที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่


นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ความผิดพลาดหรอก ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาหลายปีที่หยุดไป การลงทุนยังไม่ได้เริ่มต้น ยังไม่ได้เริ่มขาย พอสถานที่ใกล้เสร็จก็มีเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งระเบิดและโจมตีหลายครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้ามาลงทุน ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใดใดมาลงทุนเลย สถานการณ์มันไม่เอื้อต่อการสร้างวงจรทางธุรกิจให้ครบตามห่วงโซ่ มันก็เลยไม่สามารถไปต่อได้

 มองใหม่ “เมืองอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” เชื่อมโยงตลาดครบวงจรสร้างรายได้ยั่งยืน

 

“จะไม่มีการแจกแพะ โค อีกต่อไป เพราะไม่เกิดความยั่งยืนและไม่ตอบโจทย์” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวถึงนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการพัฒนา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง คือเรื่องของภาคการตลาด ซึ่งจุดแตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล คือ การนำตลาดเป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมาพบว่าสร้างแล้ว ลงทุนแล้ว ไม่รู้จะขายที่ไหน นอกจากนี้ต้องยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น แต่ต้นทุนต่ำลง เช่น เพิ่มเรื่องราว แพ็กเกจที่สวยงาม มาตรฐานฮาลาล และ อย. ส่งจำหน่ายได้ทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกพื้นที่และต่างประเทศ เช่น โครงการครัวใต้สู่ครัวจีน หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ไปมาเลเซีย ญี่ปุ่น ป้องกันการพัฒนาที่เคยเกิดขึ้นแล้วไม่ครบวงจร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของโอพีจีกรุ๊ปที่เตรียมการเรื่องปาล์มครบวงจร และบริษัทอำพลฟูดส์ ได้ลงพื้นที่ อ.หนองจิก คาดว่าจะดำเนินการให้เป็นเมืองมะพร้าวครบวงจร เพราะบริษัทต้องการมะพร้าว 1,200,000 ต่อวัน แต่ขณะนี้ในประเทศมีผลผลิตไม่พอ ต้องนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศ ขณะนี้การเตรียมการแล้วเสร็จและรอกระบวนการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ยังมีโครงการยกระดับท่าเรือปัตตานี เพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า


ต้องเชื่อมโยงไปสู่ภาคของการตลาดให้ครบวงจร เช่น ถ้าจะเริ่มต้นด้วยการปลูกมะพร้าว ก็ต้องมีส่วนที่รับซื้ออย่างยั่งยืน โรงงานแปรรูปมะพร้าวต้องเกิด คนปลูกต้องมีที่ขาย จะทำอะไรก็ต้องมีตลาดเป็นตัวตั้ง อย่างปศุสัตว์ ก็มีการประชุมหารือว่าตลาดในพื้นที่มีปริมาณเท่าใด ในพื้นที่ต้องผลิตแล้วมีตลาดรองรับอย่างยั่งยืน


รองเลขาธิการ ศอ.บต. บอกเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตอบรับโครงการเป็นอย่างดีและให้ความร่วมมือในทุกด้าน เช่น ประมง อุตสาหกรรมครัวเรือน มะพร้าว เนื่องจากทุกคนเริ่มมองเห็นอนาคตที่ดี ซึ่งการขับเคลื่อนภาพรวมเมืองต้นแบบ 3 แห่ง ต้องการผู้ลงทุนทุกระดับ ทั้งเอสเอ็มอีและโรงงานแปรูรูปสินค้าเกษตร (โรงงานเกษตรอุตสาหกรรม) เพื่อให้ครบวงจร พร้อมประกาศยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่หนองจิก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน

 

เมื่อก่อนคนที่นี่ไม่ได้มีรอยยิ้มอย่างนี้ มีแต่เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดมา 10 กว่าปี แต่วันนี้ทุกคนมีรายได้อย่างน้อยวันละ 300 บาท จากบางคนที่ทำปลากะตักขายถุงละ 50 บาท แต่ใช้เวลาทำถึง 2 วัน

 

ทั้งนี้ เมื่อปี 2547 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับบริษัทฟาตอนีอินดัสทรีส์ จำกัด เพื่อดำเนินการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ และ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ระยะแรก 170 ไร่ และมีการสร้างอาคาร “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี” แล้วเสร็จ แต่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้ยังไม่มีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน ต่อมาปี 2559 กนอ.ประกาศยุบเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ (2560) เริ่มมีวิสาหกิจชุมชนบางส่วน เช่น การชำแหละไก่และบรรจุหีบห่อ เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่อไป พร้อมกับ “หนองจิก” เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง