ชาวสิงห์บุรีเฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด หลังคันกั้นน้ำชุมชนริมน้ำทยอยพัง

ภัยพิบัติ
14 ต.ค. 60
16:15
3,390
Logo Thai PBS
ชาวสิงห์บุรีเฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด หลังคันกั้นน้ำชุมชนริมน้ำทยอยพัง
สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สิงห์บุรี ยังวิกฤต ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังคันกั้นน้ำชุมชนริมน้ำเขตรอยต่อเทศบาลเมืองทยอยพังต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่ากรมชลประทานระบายน้ำเกินไปหรือไม่

วันนี้ (14 ต.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าสภาพบ้านเรือนชาวบ้านชุมชน ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี จะพึ่งเจอกับวิกฤตน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านสูง 1 เมตร หลังคันกั้นน้ำรอบชุมชนในเขตเทศบาลเมืองขาดหลายจุด เพราะไม่สามารถต้านทานแรงน้ำได้ แต่พระบรมฉายาทิสลักษณ์และพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนปฏิทินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังถูกวางไว้บนจุดสูงสุดของบ้าน เพื่อไม่ให้ถูกน้ำท่วม

 

 

นางวันดี ศรีอุดุมเวช และมารดา เปิดเผยว่า เต็มใจที่จะรับน้ำแทนคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะรู้ดีว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะมีการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ถ้าสิงห์บุรีจะช่วยชะลอน้ำไว้ได้ อยากจะเป็นตัวแทนชาวสิงห์บุรีทำดี เพื่อถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 สักครั้งในชีวิต ซึ่งไม่กลัวว่าน้ำจะท่วมบ้านนาน เพราะว่าหากวิกฤตจริงๆ น่าจะไม่เกิน 1 เดือนสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่หากมวลน้ำสูงสุดเดินทางไปถึงปริมณฑลและกรุงเทพฯ ชั้นใน จะสร้างความเสียหายให้กับงานพระราชพิธีได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านชาวบ้านใน ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี จะได้รับความเสียหายจากน้ำที่ทะลักเข้าท่วมเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา แต่ดอกดาวเรืองที่ปลูกเรียงรายไว้หน้าบ้าน ได้ถูกหนุนไว้บนโต๊ะและเก้าอี้อย่างดี หรือแทบจะไม่ได้สัมผัสกับน้ำบนพื้นถนน

 

 

นางสมลักษณ์ ปานดี กล่าวว่า รักและหวงแหนต้นดาวเรืองทั้ง 9 ต้น ที่ปลูกเองกับมือเท่าชีวิต ดาวเรืองที่กำลังบานสะพรั่ง ทำให้มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะปกป้องไม่ให้ถูกน้ำท่วมแม้แต่ต้นเดียวและรีบขนย้ายต้นดาวเรืองไปไว้บนหลังคาบ้านก่อนที่น้ำจะสูงกว่านี้ เพราะกลัวว่าคันกั้นน้ำจะขาดซ้ำอีก โดยอยากเห็นดอกดาวเรืองบ้านพร้อมกันในวันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้ เพราะอาจจะไม่มีโอกาสไปร่วมงานพระราชพิธีวันที่ 26 ตุลาคมนี้ เนื่องจากบ้านน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าอยู่ในช่วงวิกฤตเฝ้าระวัง แต่ชาวบ้านระบุว่าสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำท่วมได้และคุ้นชินเท่ากับระดับปีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และหากน้ำจะท่วมคงจะท่วมไม่นานเกิน 1 เดือน จึงอยากใช้วิกฤตนี้ทำความดีเพื่อถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 สักครั้งในชีวิต

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง