เสนอปรับโครงสร้างการจัดสรรคลื่นความถี่-ให้สื่อเริ่มปฏิรูปตัวเอง

สังคม
18 ธ.ค. 60
21:19
676
Logo Thai PBS
เสนอปรับโครงสร้างการจัดสรรคลื่นความถี่-ให้สื่อเริ่มปฏิรูปตัวเอง
ในเวทีรับฟังความเห็นร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เห็นพ้องเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดทางให้ปรับโครงสร้างการจัดสรรคลื่นความถี่และคืนคลื่นความถี่ได้ เพื่อแก้ไขปัญหากรณีความล้มเหลวของทีวีดิจิทัล และปฏิรูปการนำเสนอข่าวของสื่อฯ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ


วันนี้ (18 ธ.ค.2560) นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยถึงเป้าหมายการปฏิรูปว่า เพื่อจะให้สื่อเป็นโรงเรียนของประชาชนในการทำหน้าที่ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการปฏิรูปการนำเสนอข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ตามข้อเสนอของ สปท.และเห็นว่าสื่ออื่นๆ ควรพิจารณาการปฏิรูปตัวเองไปพร้อมกัน โดยหลังจากนี้ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนต่อแผนการปฏิรูปเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อฯ

โดยกลุ่มสื่อมวลชน มีข้อเสนอสอดคล้องกับคณะการปฏิรูปอีกประเด็นให้มีสื่อสาธารณะเพิ่มมากขึ้น เช่น การนำ NBT, ช่อง 5 สื่อรัฐสภา มาปรับเป็นทีวีสาธารณะ ที่มีกฎหมายและแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน ป้องกันการแทรกแซงจากทุกฝ่าย และควรมีเนื้อหาที่มีคุณภาพมาตรฐาน และหลายคนยังเห็นตรงกันที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.กสทช., พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม, พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อเปิดช่องให้มีการปรับโครงสร้างการจัดสรรคลื่นความถี่ และคืนคลื่นความถี่ เพื่อให้ทีวีดิจิทัลที่มีอยู่สามารถดำเนินการต่อไปได้

ส่วนเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ จริยธรรมสื่อมวลชน ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการดำเนินการที่จะกำหนดกฎหมายบังคับใช้ โดยเห็นว่าในการกำกับดูแลไม่ควรมีฝ่ายรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง และเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค ซึ่งควรมีกระบวนการดำเนินการที่ชัดเจน

ขณะที่กลุ่มภาคประชาชนเสนอความเห็นในการปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน ด้วยการตั้งศูนย์มีเดียแลป หรือพื้นที่บ่มเพาะการเรียนรู้ของประชาชนให้เท่าทันต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีการก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เช่น บทบาทของสื่อมวลชนต่อปัญหาการท้องก่อนวัยที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการเฝ้าระวังสร้างภูมิคุ้มกันให้สาธารณะ และการสร้างความร่วมมือของประชาชน

สำหรับหัวข้อเปิดรับฟังความเห็นมี 6 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อและการกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชน 2.การปฏิรูปมาตรฐานวิชาชีพและระบบการกำกับดูแลสื่อมวลชน 3.การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์/ทีวีดิจิตอล 4.การปฏิรูปแนวทางการกำกับสื่อออนไลน์ 5.การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และ 6.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ หรือผลอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์

ทั้งนี้ การปฏิรูปสื่อสารมวลชน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้มาตรา 257 และเป็นช่วงดำเนินการฟังความเห็นเพื่อนำข้อเสนอไปจัดปรับปรุงทำแผนยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เป้าหมายเพื่อให้เกิดดุลยภาพ เสรีภาพบนพื้นฐานจริยธรรม โดยแผนบูรณาการของคณะปฏิรูป 13 คณะจะรวมเป็นแผนเดียวและจะเสร็จสิ้นเดือนเมษายนปี 2561 หลังจากนั้นจะเป็นช่วงการดำเนินการตามแผนระยะ 5 ปี พร้อมตั้งเป้าให้ดำเนินการจัดทำกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อในปี 2561

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง