หลอกเกษตรกรปลูกอ้อยบนพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำขาดทุน-ติดหนี้ซ้ำซาก

เศรษฐกิจ
2 ก.พ. 61
19:27
754
Logo Thai PBS
หลอกเกษตรกรปลูกอ้อยบนพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำขาดทุน-ติดหนี้ซ้ำซาก
การให้เกษตรกรปลูกอ้อยในพื้นที่สูงอย่าง จ.ตาก โอกาสที่จะได้ผลผลิตต่ำอยู่แล้ว เมื่อได้ผลผลิตต่ำ ก็ไม่มีอ้อยส่งให้บริษัทตามสัญญา เกษตรกรก็ต้องขาดทุนและติดหนี้บริษัท เป็นวงเวียนแบบนี้

นายมาโนช อินต๊ะยา เกษตรกร ใน ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ดตาก ปรับเปลี่ยนที่นากว่า 50 ไร่ เพื่อปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สถาบันจัดการน้ำนานาชาติ ระบุว่า พบสารแคดเมียมแพร่กระจายในพื้นที่นาข้าวของชาวบ้าน

นายมาโนชกล่าวว่า กังวลเกี่ยวกับสารแคดเมียม จึงยอมปรับเปลี่ยนการผลิตโดยมีบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด เอทานอลสนับสนุนทุนและปัจจัยการผลิตและรับซื้อผลผลิต

โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน กำลังการผลิตที่ 700,000 ตันต่อปี และมีความต้องการพื้นที่เพาะปลูกมากถึง 200,000 ไร่ พร้อมส่งเสริมให้เกษตกรทั้งในและนอกพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างกว้างขวาง ทั้งที่บางพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกอ้อย เช่น อ.พบพระ เป็นที่ดอน ที่ได้ผลผลิตต่ำ ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้

ขณะที่ นายสุวรรณ ตาคำ เกษตรอำเภอแม่สอด จ.ตาก ระบุว่า พื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มี โดยฤดูกาลผลิต 57/58 มีพื้นที่ปลูก 31,800 ไร่ แต่ฤดูกาล 60/61 พบว่า อยู่ที่กว่า 57,000 ไร่ แต่ไม่ใช่ว่าเกษตรกรจะได้กำไรเหมือนกัน

ด้านโสภาพรรณ กาสมสัน ประธานสภาเกษตรกร จ.ตาก ระบุว่า พื้นที่ร้อยละ 77 ของ จ.ตาก เป็นพื้นที่ภูเขาสูง ทำให้การปลูกอ้อยในบางพื้นที่ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งขาดความรู้ความชำนาญในการจัดการพื้นที่ส่งผลให้ผลผลิตต่ำและรายได้เกษตรกรลดลง จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่เหมาะสมแทน

จ.ตาก มีรายได้ สุทธิครัวเรือนของเกษตรกรต่ำที่สุด ในกลุ่ม จ.ภาคเหนือตอนล่าง 1 และปัญหาหนี้สิน ยังเป็นสาเหตุสำคัญซี่งก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุกที่ดิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง