วันนี้ (5 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างร่วมกันพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ทางบก เรื่องการกำหนดความเร็ว เนื่องจาก พ.ร.บ.ในปัจจุบันมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2522 ถนนบางเส้นทางกำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนนอกเขตเทศบาล กำหนดความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันสภาพถนนสามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว
สำหรับการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว มีแนวคิดจะปรับให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะทางหลวงเชื่อมระหว่างเมืองไม่มีจุดตัด จุดแยก ให้มีความเร็วประมาณ 105-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และข้อเสนอดังกล่าว ยังลดความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับประชาชนที่มีข้อโต้แย้งที่ถูกจับความเร็วสูง
ด้านนายณัฐพงศ์ บุญตอบ มูลนิธิไทยโรดส์ มองว่า การปรับอัตราความเร็วให้สอดคล้องกับสภาพถนนสามารถทำได้ แต่ต้องดูปัจจัยต่างๆ ให้สอดคล้องกันด้วย ทั้งจากตัวรถ คือขนาดและความเร็วของรถ ตัวถนน คือ สภาพถนน และเขตที่อนุญาตให้มีการปรับลดความเร็ว เช่น กรณีเป็นเขตชุมชนที่ต้องมีการจำกัดความเร็วยังต้องมีอยู่
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ควรมีการหารืออย่างรอบด้าน และอาจนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำหนดอัตราความเร็วของรถด้วย
ด้านนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เห็นว่า อัตราความเร็วของรถในเขตเมืองควรกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาสังคมคมไทยมองข้ามปัญหาของคนเดินถนนซึ่งปี 2560 ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 100 คน จะเป็นผู้ที่เดินถนนประมาณ ร้อยละ 8 ยกตัวอย่าง สถิติอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้ จะเป็นผู้ที่เดินถนนเกือบ 2,000 คน ที่เสียชีวิตขณะจะข้ามถนน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงคือความเร็วในเขตเมือง ที่ยังกำหนดไว้ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ กรณีที่เขตเมืองหลายพื้นที่เริ่มประกาศกำหนดความเร็วลดลงมาอยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ สิ่งที่ทำให้การจำกัดความเร็วในเขตเมืองเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะมีผลกระทบถึงสภาพความรุนแรงหรือส่งผลต่อการเสียชีวิตตามมาด้วย