วันนี้(17เม.ย.2561) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ยืนยันกรณีนักท่องเที่ยวถูกฉลามกัดในระหว่างเล่นน้ำทะเลที่หาดทรายน้อย อ.หัวหิน จ.ประ จวบคีรีขันธ์ ถึงแม้จะมีการเผยแพร่คลิปในโซเชียลว่าเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเต่า ถ่ายคลิปได้ที่หน้าวัดถ้ำเขาเต่า เป็นฉลามหัวบาตร แต่ยังไม่สรุปได้ว่าเป็นฉลามที่นักท่องเที่ยวอ้างว่าถูกกัดหรือไม่
โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ทช. พร้อมนักวิชาการทางทะเล จะนำเรือออกไปตรวจสอบจุดที่พบฉลามตั้งแต่จุดหน้าวัดถ้ำเขาเต่า-หาดเขาเต่า-หาดทรายใหญ่-หาดทรายน้อย-หาดหัวหิน พูดคุยชาวประมงในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเต่าเพื่อหาข้อมูล ซึ่งหลวงพ่อบอกว่ามักจะมาว่ายช่วงบ่ายๆ รวมทั้งจะเข้าเยี่ยม และพูดคุยกับนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวเพื่อให้เล่าเหตุการณ์อย่างละเอียด
ขณะนี้ยังไม่ยืนยันว่านักท่องเที่ยวถูกฉลามกัดหรือไม่ โดยจะต้องดูจากร่องรอยแผลที่ถูกกัดอย่างละเอียด โดยแพทย์จะวินิจฉัยทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากบาดแผลกัดจากฟันฉลามจะต้องปรากฎซี่ฟันของฉลามบนบาดแผลต่างกับรอยแผลบาดจากเพรียงและหินชัดเจน จึงจะให้คำตอบว่าเป็นการกัดของฉลามจริง
รองอธิบดีทช.กล่าวว่า จากข้อมูลยืนยันของนักวิชาการยังไม่เคยเจอข่าวหรือมีรายงานว่าพบฉลามกัดนักท่องเที่ยวในทะเลอ่าวไทย ยกเว้นกรณีปีที่ผ่านมา เคยมีข่าวชายหาดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม แต่จะให้นักวิชาการที่เชี่ยวชาญตรวจสอบให้แน่ชัดว่าภาพที่ปรากฏเป็นฉลามชนิดอะไร
เชิญกรมประมงพิสูจน์รอยฟันฉลามรู้ผลบ่ายนี้
ยอมรับว่าเรื่องนี้กระทบต่อการท่องเที่ยว และหากวันนี้รอยแผลยืนยันว่าเป็นรอยฉลามกัดจริง และปรากฎและเจอตัวฉลามในทะเลหัวหิน มีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องหาแนวทางร่วมกับท้องถิ่น นักวิชาการในการจับหรือย้ายฉลามออกไปในพื้นที่อื่นๆ แต่ทั้งหมดต้องรอข้อเท็จจริงและตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน และถ้าจะต้องเคลื่อนย้ายฉลามจะต้องมีกระบวนการทางวิชาการที่รอบคอบแบบที่ทำการย้ายจรเข้เลพัง ออกจากทะเลภูเก็ต
ด้านนายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 กล่าวว่า ขณะนี้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม จากกรมประมง ร่วมกับสัตวแพทย์ ทช.และนักวิชาการ รวมทั้งแพทย์ที่รักษานักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ที่ระบุว่าถูกฉลามกัดมาตรวจสอบรอยแผลอย่างละเอียด ซึ่งทางโรงพยาบาลจะแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันนี้ จากนั้นจึงออกมาตรการต่างๆตามมา เบื้องต้นหากเป็นรอยฉลามจริง อาจจะต้องมีทำป้ายเตือนบริเวณที่เจอฉลามหากินใกล้ชายฝั่งเช่น หน้าวัดถ้ำเขาเต่า และอาจทำตาข่ายกั้น เพื่อเตือนนักท่องให้ระวังฉลามหากินใกล้ชายฝั่งต่อไป
สำหรับกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) เกิดเหตุตำรวจท่องเที่ยวหัวหินเข้าตรวจสอบ พบว่าเป็นชายชาวนอร์เวย์ มีภรรยาเป็นคนไทย แพทย์ได้ทำแผลและตรวจดูรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ยังไม่ชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถูก “ฉลาม” กัดหรือไม่