ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สคบ.ออกประกาศคุมค่าน้ำ-ไฟหอพัก มีผล 1 พ.ค.นี้

เศรษฐกิจ
25 เม.ย. 61
12:09
41,912
Logo Thai PBS
สคบ.ออกประกาศคุมค่าน้ำ-ไฟหอพัก มีผล 1 พ.ค.นี้
ประกาศธุรกิจควบคุมให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัย ของ สคบ. จะมีผล 1 พ.ค.ปีนี้ โดยผู้ให้เช่าจะต้องคิดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ในอัตราเดียวกับบ้านเรือนทั่วไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 1 พ.ค.นี้ ประกาศ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคาร เพื่อที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในประกาศดังกล่าว กำหนดให้ห้องพัก ห้องเช่า หอพักต่าง ๆ ต้องจัดเก็บค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ตามอัตราที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เรียกเก็บกับบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า บทลงโทษที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามสัญญากรณีเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมผู้บริโภค ในรายละเอียดของประกาศดังกล่าวยังห้ามในเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ห้ามผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าประกันความเสียหายเกิน 1 เดือน ค่าเช่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน ห้ามเรียกเก็บค่าต่อสัญญาและห้ามไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปในทรัพย์สินผู้เช่า หรือเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า กรณีผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างค่าเช่า จากเดิมผู้ให้เช่าอาจเข้าไปขนของออกจากห้องเช่า หรือล็อกห้องไว้ต่อไปนี้ผู้ให้เช่าไม่สามารถเข้าไปไม่ได้ แต่ผู้ให้เช่าสามารถที่จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางกฎหมายได้ หลังจากยกเลิกสัญญาแล้ว และขอให้ศาลออกคำบังคับในการขนย้ายทรัพย์สิน

สำหรับสิทธิของผู้บริโภคนั้น สามารถบอกยกเลิกห้องพักกับผู้เช่าได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน เช่น กรณีทำสัญญาเช่า 12 เดือน แต่อยู่ไป 6 เดือน และเดือนที่ 7 จะออกก็ต้องบอกหลังจากสิ้นสุดในเดือนที่ 6 ก็มีสิทธิทำได้ และกรณีที่สัญญาสิ้นสุดและผู้บริโภควางเงินประกันไว้ หากออกกฎหมายบังคับว่าผู้ประกอบการต้องคืนเงินให้ผู้บริโภคทันที ยกเว้นว่า ผู้ประกอบการขอตรวจสอบความเสียหายในห้องให้เวลาตรวจสอบ 7 วัน และถ้าไม่มีเสียหายต้องคืนเงินให้ผู้บริโภคทันที

ส่วนการประกันมี 2 รูปแบบ คือ การประกันค่าเช่าล่วงหน้า ถ้าจะออกไม่ต้องจ่าย ส่วนประกันความเสียหาย ถ้าไม่เสียหายก็ต้องคืน แต่ต้องดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงพอกับเงินประกันหรือไม่ ถ้าไม่พอดีความเสียหายมากกว่าผู้ประกอบการก็แจ้งผู้เช่าชำระเพิ่มเติม แต่ถ้าน้อยกว่าผู้ประกอบการต้องคืนส่วนต่าง

สำหรับผู้บริโภคให้ตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนดไว้ หากผู้ประกอบการดำเนินการไม่เป็นไปตามประกาศสามารถร้องเรียน สคบ. หรือ ปรึกษาสายด่วน 1166 กรณีผู้เช่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง