ย้อนรอยช่วยเหลือ "คนติดถ้ำ" ลึกสุดในเยอรมนี

ต่างประเทศ
28 มิ.ย. 61
06:52
6,484
Logo Thai PBS
ย้อนรอยช่วยเหลือ "คนติดถ้ำ" ลึกสุดในเยอรมนี
ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในหลายประเทศทั่วโลก ภารกิจช่วยชีวิตนักสำรวจถ้ำที่ประสบอุบัติเหตุติดอยู่ภายในถ้ำที่ลึกที่สุดในเยอรมนี ผู้สูญหายได้กลับมาอย่างปลอดภัย แม้ใช้เวลาถึง 12 วัน

วันนี้ (28 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำที่เยอรมนี มีกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 900 เมตร ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน

 
ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในถ้ำ เนื่องจากมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยชีวิตจากหลายประเทศเข้าร่วม ตลอดระยะเวลา 12 วัน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2557 โยฮัน เวสต์เฮาเซอร์ นักสำรวจจากสถาบันเทคโนโลยีคาร์ลรูเฮอร์และเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน เดินทางไปสำรวจถ้ำรีสเซนดิง ซึ่งเป็นถ้ำที่ลึกและยาวที่สุดในเยอรมนี ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาแอลป์ติดกับออสเตรีย 


เมื่อทีมสำรวจลงไปที่ความลึกประมาณ 950 - 1,000 เมตร เกิดเหตุหินถล่มในถ้ำ ทำให้เวสต์เฮาเซอร์บาดเจ็บที่ศีรษะ ลูกทีม 2 คน ต้องแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งคนแรกอยู่เป็นเพื่อนเวสต์เฮาเซอร์ ส่วนอีกคนปีนกลับขึ้นไปเพื่อโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในถ้ำไม่มีสัญญาณ

ปฏิบัติการช่วยเหลือเวสต์เฮาเซอร์ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. เจ้าหน้าที่นำตัวของเวสต์เฮาเซอร์ใส่เปลหามลำเลียงไปตามทางแคบสลับซับซ้อนและหยุดพักเป็นระยะๆ ตามจุดพักจนมาถึงปากถ้ำได้อย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.


สิ่งที่น่าสนใจคือปฏิบัติการช่วยเหลือในช่วง 180 เมตร สุดท้าย ไม่มีการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทุ่นแรงการฉุดดึงเปลหามบรรทุกเวสต์เฮาเซอร์น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ขึ้นมาจากปากทางเข้าถ้ำ อุปกรณ์เพียงอย่างเดียวที่ใช้คือ รอกมือเท่านั้น

ปฏิบัติการช่วยเหลือในครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำเข้าร่วมทั้งหมด 728 คน ทั้งจากเยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ โครเอเชียและอีกหลายประเทศ


ใช้งบประมาณไปกว่า 96,000 ยูโร หรือกว่า 36 ล้านบาท ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำ ที่ใช้งบประมาณมากที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมนี

การช่วยเหลือเวสต์เฮาเซอร์เป็นการทำงานที่มีแรงกดดันสูงมากเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคนอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นและต้องทำงานแข่งกับเวลา ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน

ส่วนตำรวจเยอรมนีแก้ปัญหาด้วยการปิดปากทางเข้าถ้ำแห่งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยกับนักท่องเที่ยว หรือผู้คนที่อยากรู้อยากเห็นและเปิดให้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปเท่านั้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง