เบื้องหลังภารกิจ "สู้น้ำถ้ำหลวง" ช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า

สังคม
18 ก.ค. 61
17:06
3,555
Logo Thai PBS
เบื้องหลังภารกิจ "สู้น้ำถ้ำหลวง" ช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า
ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ "ธเนศ นะธิศรี" เปิดเบื้องหลังการจัดการน้ำ จากวิกฤตน้ำท่วมถ้ำหลวงช่วงแรก แม้พยายามใช้เครื่องสูบน้ำแต่ระดับน้ำกลับไม่ลด เขาและทีมผู้เชี่ยวชาญจึงนำวิธีการปิดตาน้ำและเบี่ยงเบนทางน้ำเหนือถ้ำหลวงมาใช้เพื่อดูแลทุกชีวิตที่ทำงานในถ้ำ

นอกจากทีมกู้ภัยในถ้ำหลวงแล้ว ยังมีหน่วยงานนอกถ้ำที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ภารกิจพาหมูป่ากลับบ้านสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หนึ่งในนั้น คือ "นายธเนศ นะธิศรี" ที่ปรึกษาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าของร้านอาหารไทย THAI-D Classic Thai Cuisine ที่รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียนจบด้านสถาปนิกที่สหรัฐอเมริกา หนุ่มไทยสัญชาติอเมริกันคนนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังการจัดการและบริหารน้ำในถ้ำหลวงเพื่อสนับสนุนทีมดำน้ำและแข่งขันกับอุปสรรคต่างๆ เพื่อรักษาชีวิตทั้งทีมหมูป่าอะคาเดมีและทีมกู้ภัยทุกคนในถ้ำให้ปลอดภัย

 

ทำไมถึงเข้าร่วมภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่าอะคาเดมีครั้งนี้ได้

ได้มาทำงานที่ประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องโครงการธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ประมาณเดือนครึ่งแล้ว เนื่องจากต้องช่วยเหลือเกษตรกรไทยในภาคอีสานที่มีปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมจนสามารถจัดการน้ำเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคได้ประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิ.ย. ทางกองทัพไทยได้เรียกตัวให้เดินทางไปช่วยวางแผนจัดการน้ำในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำใต้ดิน โดยนำวิธีการปิดตาน้ำ และการเบี่ยงเบนทางน้ำเหนือถ้ำหลวงมาใช้เพื่อให้ทีมกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยทีมหมูป่าที่ติดในถ้ำหลวงได้

 

คิดว่าภารกิจกู้ภัยครั้งนี้มีความยากลำบากหรือไม่

ตอนแรกยังไม่เห็นหน้างาน เพราะไม่ได้ติดตามข่าว แต่พอมาถึงแล้วรู้สึกว่ามันท้าทายมาก และเป็นอะไรที่ยากพอสมควร

 

การจัดการน้ำแต่ละวันทำอย่างไรบ้าง

วิธีการทำงานหลัก ๆ คือ เน้นการประสานงานคนที่ทำงานในถ้ำจริง ๆ คือทางทีมดำน้ำอังกฤษกับทีมอินเตอร์ รวมถึงมิสเตอร์เวิร์นและมาร์ติน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนว่าจะดำเนินการจุดไหน เพื่อลดระดับน้ำในถ้ำและให้ระดับน้ำคงที่ และจะดำเนินงานจุดไหนเพื่อปิดทางน้ำเข้า ในแต่ละวันผมจะควบคุมการดำเนินงาน วางพิกัด ทำระบบช่วยดึงน้ำใต้ดินให้ระบายออกจากตัวถ้ำ โดยเครื่องจักรหนัก ทั้งปั๊มน้ำ รถแบ็กโฮ โดยร่วมมือกับสมาคมขุดเจาะน้ำบาดาลมาดูแลเรื่องน้ำบาดาลเพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจลดระดับน้ำในถ้ำที่บริเวณถ้ำทรายทอง อีกภารกิจ คือ ขึ้นไปปิดทางน้ำที่จะไหลเข้าถ้ำหลวงในด้านฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแนวถ้ำหรือบริเวณห้วยน้ำดั้น ฝั่งผาหมี

 

เริ่มทำภารกิจแล้ว สถานการณ์น้ำในถ้ำดีขึ้นหรือไม่

ทีมดำน้ำบอกว่าบางโถง จากน้ำเต็มก็สามารถที่จะมีช่องว่างเพิ่มขึ้นในการพักหายใจ และสามารถเดินได้ในบางช่วง ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าถ้ำก็ลดลง แม้กระทั่งช่วงหลังฝนตกน้ำก็ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติฝนตกน้ำจะขึ้นมาสูงมาก แต่หลังจากเริ่มภารกิจเรื่อยๆ จนเกือบถึงวันสุดท้ายระดับน้ำก็ยังลดต่ำอยู่

 

ทีมงานในการจัดการน้ำมาจากที่ใดบ้าง

พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 และ พ.อ.สิงหนาท โลสุยะ รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นกำลังหลักในแต่ละวัน และมีอาสาสมัครของสยามรวมใจมาช่วยด้วย ชาวบ้านใกล้ๆ บริเวณถ้ำหลวงก็มาช่วยเป็นกำลังอีกแรงหนึ่ง ที่สำคัญ คือ ความร่วมมือด้านข้อมูลของทีมจากทั้งสหรัฐอเมริกา ทีมอังกฤษ และทีมจากออสเตรเลีย

 

ครั้งแรกบริหารจัดการน้ำในงานกู้ภัย?

ครั้งแรกครับ และผมก็เชื่อว่าเป็นครั้งแรกของทุกคน แม้กระทั่งทีมอินเตอร์นี่ก็เป็นครั้งแรก ที่ได้เจอภารกิจขนาดนี้ ต้องใช้คำว่าเป็นครั้งแรกสำหรับทุกๆ คน

 

มีช่วงวิกฤตในภารกิจครั้งนี้ไหม

สำหรับผมไม่มีช่วงที่วิกฤตนะ ผมมองหน้างานแล้วก็แก้ไขปัญหาหน้างานไปตามเรื่องนั้น ๆ ถ้าเรามองให้มันเป็นวิกฤต มันก็จะทำให้เราท้อแท้ ถ้าเรามองงานให้มันยาก มันก็จะยาก ถ้าเรามองงานให้มันง่าย มันก็ง่าย ผมพยายามจะมองให้มันง่ายไว้ก่อน 

ถ้ามองงานให้มันง่าย เราก็สามารถทำตามข้อมูลที่เรามีไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเรามองงานให้มันยาก อะไรมันก็ยากไปหมด ยังไม่เริ่มทำ ยังไม่ลงมือเราก็คิดว่ามันยากไปแล้ว มันจะเป็นการจำกัดความสามารถตัวเองไปอีกทางหนึ่ง 


ตอนปฏิบัติงานรู้ข่าวทีมหมูป่าบ้างไหม

ติดต่อกับทางทีมดำน้ำตลอด ผ่านมิสเตอร์เวิร์น เพราะต้องตรวจสอบระดับน้ำ เพื่อวิเคราะห์ วางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบวันต่อวัน หลังพบทีมหมูป่าเราก็ต้องเช็คงานให้ 100 เปอร์เซ็นต์ คนปั๊มน้ำก็ต้องปั๊มให้เกินร้อย คนปิดตาน้ำก็ต้องทำให้มันเพียงพอที่จะรับปริมาณฝนในแต่ละวัน

พอเจอเด็กปุ๊ปก็คิดหนักว่าเราต้องทำอย่างไรให้ทีมดำน้ำสามารถไปช่วยเด็กได้ ทำให้น้ำลดลง อันนี้เป็นความท้าทายมาก ช่วงที่เริ่มกู้ภัยวันแรกพวกผมต้องทำงานหนักกว่าทุกๆ วันที่ผ่านมา เพราะไม่ใช่มีแค่ชีวิตของเด็ก แต่เป็นชีวิตของนักกู้ภัยทั้งหมดที่อยู่ในถ้ำขึ้นอยู่กับภารกิจจัดการน้ำของเรา

 

รู้สึกอย่างไรที่ได้มาร่วมภารกิจกู้ภัยถ้ำหลวงในครั้งนี้

ตอนแรกๆ รู้สึกกังวล ตอนแรกเราคิดว่าเด็กอาจจะไม่รอดนะ สัก 30เปอรเซ็นต์ อย่างต่ำ แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพของทีมดำน้ำอังกฤษที่เขาสามารถลำเลียงเด็กออกมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเป็นดวงของเด็กด้วย ที่สามารถรอดจากการช่วยเหลือครั้งนี้มาได้ 

 

ข้อเสนอการทำงานด้านธรณีของไทยในอนาคต

ผมว่าที่มีอยู่ทุกทีมก็ดีอยู่แล้ว แต่ว่ามองในแง่ของการประสานงาน เราอาจจะต้องถอดบทเรียนจากภารกิจนี้ หลาย ๆ อย่าง เช่น การสื่อสารข้อมูลจากในถ้ำและนอกถ้ำให้ทุกทีมสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลได้ เพราะการทำงานครั้งนี้เวลาจะหาข้อมูล บางทีความลับมันเยอะเกินไป เราต้องการทำงานนี้ เราต้องการข้อมูลตรงนี้ แต่กลับเอาข้อมูลตรงนี้มาไม่ได้ ซึ่งถ้าเกิดมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้งานออกมาราบรื่นมากขึ้น

 

อยากฝากอะไรถึงทีมหมูป่า

ดีใจที่น้อง ๆ ปลอดภัยกันทุกคน และอยากจะให้เรื่องนี้เป็นความทรงจำดีๆ ความทรงจำหนึ่ง ที่ถ้าไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น เราก็คงจะไม่ได้มีการร่วมมือกันกับทีมงานทั้งโลกแบบนี้ และหวังว่าน้องๆ จะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานข้างหน้าและมีสุขภาพแข็งแรง

 

ผานิต  ฆาตนาค ไทยพีบีเอสออนไลน์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง